บทเรียนสำคัญในโลกอินเตอร์เน็ตข้อที่หนึ่งคือ “ยิ่งปิดอะไร ยิ่งเป็นไวรัล”
ถ้าพูดตามหลักวิทยาศาสตร์ นั่นเป็นเพราะว่าสมองมนุษย์ไม่รองรับประโยคปฏิเสธ ถ้าอ่านแล้วงงล่ะก็ อย่าคิดภาพตามว่ามีช้างตัวใหญ่ยืนอยู่ตรงหน้า ตัวมันต่างจากช้างตัวอื่น เพราะมันเป็นสีแดง ที่แดงก่ำไม่ต่างจากสีเลือด มันเป็นช้างตัวผู้ มีงาสีขาวที่ยาวโค้งน่าเกรงขาม มันยกขาหน้าขึ้น และส่งเสียงร้องอันดังออกไป
พออ่านถึงตรงนี้ เราหวังว่าคุณคงไม่ได้นึกถึงช้างตามที่เราเขียนใช่ไหม? ถ้านึกภาพตามล่ะก็ ยินดีด้วย คุณคือคนส่วนใหญ่บนโลกนี้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราถูกบอกว่า “อย่าดู” อะไร มันยิ่งทำให้เราสนใจอยากดูมากขึ้นเท่านั้น
ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “พระพุทธเจ้าปางอุลตร้าแมน”

จนถึงตอนนี้ คงไม่มีใครที่ใช้สื่อโซเชียลแล้วยังไม่เห็นภาพวาดพระพุทธรูปปางอุลตร้าแมน อยู่หน้าพื้นหลังลายกระเป๋าหลุยส์วิตตองแน่ๆ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายเวอร์ชั่น ทั้งแบบพระพุทธรูปปางสมาธิหนึ่งองค์ แบบยืนเรียงโพสท่าเป็นกลุ่ม 7 องค์ และพระพุทธรูปอุลตร้าแมนปล่อยพลังในอวกาศอีก 6 องค์ รูปทั้งหมดนี้วาดโดยนักศึกษาปี 4 หลักสูตรศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
แต่มีใครเอะใจบ้างไหมว่า สิ่งที่มาพร้อมกับกระแสนี้คือข่าวการถูกสั่งห้ามเผยแพร่ ในการจัดแสดงที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในโคราช ถ้าไม่มีกระแสสั่งแบนงานนั้น มันก็คงเป็นภาพไม่กี่ภาพที่ตั้งไว้กลางห้างให้คนในท้องถิ่นจำนวนหนึ่งดู และลืมๆกันไป แต่พอมีการแบน และเรียกร้องให้นักศึกษาผู้วาดต้องมาขอขมาต่อพระเจ้าคณะของจังหวัด กลายเป็นภาพ talk of the town ทำหน้าที่เปิดประเด็นให้คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตามความตั้งใจของศิลปะร่วมสมัยไปเสียนี่ ทั้งๆที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ต้องการให้คนหมู่มากเห็นภาพเหล่านั้นด้วยซ้ำ
ความย้อนแย้งแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และไม่มีทางที่จะเป็นครั้งสุดท้าย เหตุการณ์ “อยากแบน กลับไวรัล” แบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก และมันเรียกว่า Streisand Effect ที่ถูกคิดค้นโดย Mike Masnick จากเว็บ Techdirt

คำว่า Streisand มาจากนามสกุลของ Barbra Streisand นักร้องเพลงคันทรี่ และนักแสดงฮอลลีวู้ดที่โด่งดังในยุค 70 ด้วยความเป็นดาราดัง Babara ก็มีบ้านพักตากอากาศสุดหรูที่ริมหาดมาลิบู ในเมืองลอสแองเจลิส ทีนี้ในปี 2003 มีช่างภาพคนหนึ่งชื่อ Kenneth Adelman เขาถูกว่าจ้างให้มาถ่ายภาพชายหาดมาลิบู ในโครงการวิจัยสำรวจชายฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย และมีภาพภาพหนึ่งเป็นภาพมุมสูง ถ่ายติดบ้านพักตากอากาศสุดหรูหลังหนึ่ง และภาพนั้นถูกอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ของโครงการ

โครงการวิจัยเฉพาะทางแบบนั้น เป็นเรื่องวิชาการไกลตัวคนทั่วไป ต่อให้มีภาพบ้านของดาราอยู่ในนั้น ก็ไม่มีใครสนใจอยู่ดี ผลก็คือมีคนเข้ามาดูภาพนั้นเพียง 4 คน (ซึ่งก็ควรจะเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว) แต่จู่ๆ ภาพนั้นกลับมียอดวิวพุ่งถึง 420,000 วิว ภายในหนึ่งเดือน เพิ่มขึ้นเป็นแสนเท่าอย่างก้าวกระโดด
นั่นเป็นเพราะ Babara ได้จ้างทนายมาฟ้อง Kenneth ว่าช่างภาพได้ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเธอ เป็นจำนวนเงินถึง 50 ล้านดอลลาร์ และให้เอาภาพนั้นออกจากเว็บไซต์โดยทันที ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นข่าวระดับประเทศ แต่ปรากฎว่าสุดท้าย Babara ล้มหน้าฟาด ศาลสั่งยกฟ้องและดาราสาวต้องจ่ายค่าเสียหายให้ Kenneth อีก 155,000 ดอลลาร์
สิ่งที่เราเห็นจาก Streisand Effect คือ ถ้าต้องการปิดกั้นสิ่งที่ตัวเองไม่อยากให้เห็น ก็อย่าเล่นใหญ่ เพราะจะทำให้มีคนเห็นมันไปทั่วทางอินเตอร์เน็ตมากกว่าเดิม ซึ่งปัจจุบัน แค่พิมพ์คำว่า Streisand Effect ทาง Google ก็จะเห็นภาพบ้านของ Babara Streisand ได้ง่ายๆ และแน่นอนว่าไม่มีใครสนใจอีกต่อไปแล้วว่า นางเอก A Star is Born คนก่อน Lady Gaga จะมีบ้านริมชายหาดหรูแค่ไหน
แล้วทีนี้ ถ้าเรามีสิ่งที่เราไม่อยากให้เผยแพร่ เราจะแก้อย่างไร ไม่ให้มันกลายเป็นไวรัลที่ใครๆ ก็อยากหามาดูล่ะ?
สิ่งแรกเลยคือ เราต้องยอมรับก่อนเลยว่า “ไม่มีอะไรที่ชาวเน็ตขุดไม่ได้” ในโลกอินเตอร์เน็ต เราหาได้ทุกอย่าง ดังนั้นการแก้ Streisand Effect ที่ดีที่สุดก็ต้อง “เล่นตัวเอง” หรือ “สปอล์ย” ก่อนเลย

หลายคนคงจำเพลง Chandelier จากนักร้องสาว Sia ได้ แต่มีใครจำข่าวภาพเปลือยของเธอหลุดทางอินเตอร์เน็ตได้ไหม? (ซึ่งเราเองก็จำไม่ได้เหมือนกัน ถ้าเราไม่ต้องเสิร์ชข้อมูลเพื่อมาเขียนบทความนี้) ในปี 2017 มีปาปาราซซี่แอบถ่ายภาพเปลือยของ Sia จากระเบียงห้องพักในโรงแรมที่เธอพักได้ แน่นอนว่าช่างภาพพยายามแบล็คเมล์เธอ
สิ่งที่ Sia ทำคือเอาภาพที่เธอโดนแบล็คเมล์มาโพสต์ลงทวิตเตอร์ซะเลย พร้อมแคปชั่นว่า “มีบางคนพยายามขายภาพเปลือยของฉันให้กับพวกแฟนคลับ เก็บเงินไว้เถอะ เอาไปดูฟรีๆเลย เพราะทุกวันคือวันคริสต์มาส” ซึ่งนักร้อง-นักแต่งเพลงชาวออสเตรเลียได้เปลี่ยนกระแสจาก “ตามหาภาพลับ” เป็น “ร่วมกันประณามและเอาผิดผู้แอบถ่าย” แทน
ถึงอย่างนั้น การสวนกลับของ Sia อาศัยความกล้าอย่างมหาศาล และใช่ว่าทุกคนจะทำตามได้ แต่วิธีของนักร้องสาวก็ได้ย้อนกระแส Streisand Effect ได้อย่างเจ็บแสบเลยทีเดียว
ถ้าไม่อยากสปอล์ยก่อน ก็คงต้องใช้ความอดทนบำเพ็ญตบะ และปลงอุเบกขาปล่อยวางว่า ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ซึ่งแน่นอนว่ามันจะดับไปจนกว่าจะมีเหตุการณ์ที่จุดประกายให้คนอยากขุดเรื่องเก่ามาเล่าใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เราได้ฝึกความอดทนกันไปอีกนานเท่านาน กับคำว่า “ใดใดในอินเตอร์เน็ต ยิ่งปิด ยิ่งไวรัล”