เอาจริงๆ เรื่องชาวต่างชาติที่เข้ามาแพร่เชื้อโควิดในไทย หรือ super spreader ที่สนามมวย มันคือเรื่องเดียวกับการตัดผมเด็กนักเรียนนะ
เพราะการ Quarantine ของรัฐ กับกฎระเบียบเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมของโรงเรียน เป็นการออกกฎที่ใช้ควบคุมคนบางกลุ่ม และให้อภิสิทธิคนบางกลุ่มเหมือนกันทั้งคู่ยังไงล่ะ

เอาง่ายๆ เลยนะ ถ้าอยากให้คนทำตามกฎ ก็ต้องทำให้กฎนั้นศักดิ์สิทธิถูกมั้ย? ดังนั้นแปลว่า ไม่ว่าใครก็ต้องถูกบังคับให้ทำตามกฎนี้อย่างเสมอภาค แต่ทีนี้ อย่างกฎเรื่องทรงผม มันไม่ได้บังคับใช้กับทุกโรงเรียน แต่มันคือความพึงพอใจของครูแต่ละโรงเรียนเท่านั้น ไม่ได้เป็นไปตามกฎของกระทรวง และกฎเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมจะลดลงผันแปรไปตามค่าเทอมที่สูงขึ้น เด็กรวยที่เรียนอินเตอร์จะถูกควบคุมน้อยกว่าเด็กโรงเรียนในสังกัดของสพฐ. ดังนั้นการไปกล้อนผมเด็ก มันไม่ได้สอนให้เด็กทำตามกฎ แต่สอนว่า “คนรวยมีอภิสิทธิ” ต่างหากล่ะ
เช่นเดียวกันกับเรื่องทหารอียิปต์ที่เอาโควิดมาแพร่ในไทย หรือ super spreader ที่สนามมวย ที่คนทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ถูกกักตัว 14 วันเพราะเป็นคนของกองทัพ เลยมีอภิสิทธิอยู่เหนือกฎ มันก็เป็นการสื่อสารกับสังคมว่า “ถ้ารู้จักผู้มีอำนาจ เราก็จะได้อภิสิทธิ”
สุดท้ายแล้วการทำตามกฎแบบไทยๆ มันคือการบอกว่า ถ้าคุณมีเงินและเส้นสายคุณจะมีอภิสิทธิ ไม่ใช่ กฎคือข้อตกลงร่วมกันให้ทุกฝ่ายอยู่ได้อย่างสงบสุข เพราะมีการเว้นกฎให้คนที่มีอำนาจเสมอ

สังคมที่ให้ค่ากับการมีอภิสิทธิ มันก็สะท้อนอยู่ในเรื่องเล็กๆ อย่าง ทำไมคนๆ หนึ่งเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ ก็มักจะเจอเพื่อน (ที่ส่วนใหญ่ไม่สนิท เป็นแค่คนรู้จักเฉยๆ) ฝากซื้อของ หรือ บางคนจ้างเพื่อนทำงานด้วยความคาดหวังว่าพอเป็นเพื่อนกันต้องลดราคาลงหรือทำงานให้เพื่อนฟรีๆ โดยอัตโนมัติ พฤติกรรมทั้งสองอย่างนี้คือการ “อวดอภิสิทธิ” ในตัวเองทั้งคู่
เราอยากอยู่ในสังคมที่ส่งเสริมให้คนอวดอภิสิทธิกันจริงๆเหรอ?