ดูหนัง Green Book แล้ว มันทำให้เรามองคำว่า “การแก้ปัญหาแบบละมุนละม่อม สันติวิธี บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น” เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
คำว่า Green Book ในหนัง มันหมายถึงหนังสือที่ชื่อว่า Negro Motorist Green Book หนังสือไกด์บุ๊คแนะนำร้านอาหารและโรงแรมสำหรับคนแอฟริกัน-อเมริกัน ในยุคที่กฎหมายแบ่งแยกสีผิว (Jim Crow Law) ยังอยู่ในรัฐทางตอนใต้ของอเมริกา
ต้องท้าวความเรื่องประวัติศาสตร์ไปนิดนึงว่า หลังจากการเลิกทาสในปี 1865 เกิดขึ้นแล้ว รัฐทางตอนใต้ของอเมริกา เช่น อลาบามา, หลุยเซียน่า, เคนตักกี้, จอร์เจีย ฯลฯ ได้ออกกฎหมายแบ่งแยกสีผิวขึ้น ที่บริษัทห้างร้านต่างๆ สามารถเลือกที่จะให้บริการเฉพาะคนขาวเท่านั้นบ้าง หรือในรถเมล ก็จะมีที่นั่งที่ให้คนขาวนั่งโดยเฉพาะ ส่วนคนดำต้องไปในที่ท้ายรถเท่านั้นบ้าง บางรัฐถึงกับออกกฎว่าห้ามคนผิวดำปรากฏตัวในที่สาธารณะหลังพระอาทิตย์ตกดินเสียด้วยซ้ำ

ทีนี้เมื่อคนผิวดำมีรถขับและจะขับไปเที่ยวต่างเมือง พวกเขาก็จะถูกร้านอาหารบางร้านปฏิเสธการให้บริการบ้าง โรงแรมบางแห่งก็ปฏิเสธให้บริการบ้าง และนั่นคือที่มาของ Negro Motorist Green Book ที่เขียนโดยนักเขียนบทความท่องเที่ยว Victor Hugo Green ซึ่ง Victor ก็เป็นคนแอฟริกัน-อเมริกันเช่นกัน ในไกด์บุ๊คจะสรุปว่าในเมืองไหนมีร้านอาหารและโรงแรมใดที่คนผิวดำสามารถเข้าไปพักได้บ้าง

วิธีแก้ปัญหาแบบนี้ หลายคนคงมองว่า “เห็นมั้ย แค่มีไกด์บุ๊คอันนี้ ทุกคนก็แฮปปี้แล้วนี่ เพราะคนดำก็ได้ร้านอาหารและที่พักอย่างที่ต้องการ ไม่ต้องลงถนนประท้วง แถมคนขาวก็สามารถใช้ชีวิตไปตามปรกติสุขได้ด้วย” บางคนอาจจะมองว่าแค่หนังสือเล่มเดียวก็แก้ปัญหาแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นได้แล้ว
ซึ่งปัญหาของหนังสือ Green Book นี่ มันอยู่ที่ “บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น” นี่ล่ะ เพราะมันละมุนละม่อมเกินกว่าที่จะทำให้คนขาว ตระหนักถึงสิทธิของคนสีผิวอื่น และยอมเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองเพื่อความเท่าเทียม เพราะคนขาวไม่ได้เดือดร้อนใดๆ จากการมีหนังสือเล่มนี้ สุดท้ายแล้ว Green Book กลับกลายเป็นเครื่องมือที่คนขาวเอามาใช้ประโยชน์ ในการอ้างว่า “กฏหมายคุ้มครองทุกคนอย่างเท่าเทียมแล้ว” เสียด้วยซ้ำ
เราเลยไม่แปลกใจใดๆ กับการลุกฮือของ Black Lives Matter ที่อเมริกา เช่นเดียวกับการประท้วงของเสื้อแดง หรือการเอาดาราสลิ่มมาแหกตามสื่อออนไลน์ในไทยอีกด้วย เพราะสันติวิธีใดๆ ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้มีอำนาจ หรือกองเชียร์ผู้มีอำนาจโดยตรง มันจะไม่มีวันเวิร์ค

ความละมุนละม่อมหรือบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ก็มีแต่จะทำให้คนที่มีอำนาจและกุมความได้เปรียบอยู่ ยังได้เปรียบอยู่ต่อไป เพราะถ้าผู้มีอำนาจเดิมไม่รู้สึกเดือดร้อนจริงๆ อ้อยที่เข้าปากช้างไปแล้ว มันคงไม่คายออกมาง่ายๆ เป็นแน่แท้
ขอปิดท้ายด้วยการ์ตูนจาก The Newyorker รูปด้านล่างนี้เลย ที่เป็นตัวแทนความรู้สึกของผู้มีอำนาจต่อการเรียกร้องแบบสันติวิธีได้เป็นอย่างดี
