ยิ่งเวลาผ่านไป จะมีข้อถกเถียงใหม่ๆ เกิดขึ้นตามความเปลี่ยนไปของสังคมเสมอ และความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากการที่อีกฝ่ายหนึ่งโดนประณามจากความไม่เข้าท่าเป็นหลักด้วยซ้ำ
อย่าง Black Lives Matter ในรอบก่อน (2017) เราเห็น 1. แบรนด์ใหญ่อย่าง Pepsi โหนกระแส BLM และเอา BLM มาเป็นส่วนหนึ่งของโฆษณา 2. เกิดแคมเปญ All Lives Matter เพื่อลดทอน BLM ซึ่งพอเป็น BLM ในปีนี้ ถ้ามีใครทำตามหมายเลข 1 และ 2 ไปล่ะก็ จะโดนประณามให้จมดินเป็นแน่แท้ ว่า “เสร่อ” และ “อย่าหาทำ” อย่างแน่นอน เพราะทั้ง 1 และ 2 โดนเสียงสาปแช่งจากประชาชนอย่างหนัก

แต่ BLM ในปีนี้ก็นำไปสู่ปัญหาอื่นที่เป็นดราม่าคือเรื่อง Looting หรือการปล้นร้านค้า ว่าตกลงการประท้วงจำไปต้องจลาจลขนาดนั้นมั้ย ซึ่งฝ่ายหนึ่งจะบอกว่ามันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอีกฝ่ายหนึ่งจะตอบว่า “ผิดในทุกกรณี แถมยังลดทอนความหมายของ BLM อีกด้วย” ซึ่งถ้ามีการประท้วง BLM อีก (ซึ่งเราหวังว่าจะไม่มีอีกแล้ว) เราก็อยากรู้ว่าจะมี Looting เป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงอีกไหม
เช่นเดียวกับของไทยในเคสของคุณวันเฉลิม มันทำให้เราเห็นชัดเจนว่า แม้แต่ในคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยด้วยกันเอง (ซึ่งเรานับพวกคนกลางๆ ที่ไม่เอารัฐประหารไว้ด้วยแล้ว) มันก็มีข้อพิพาทในเรื่องของ “ท่าที” ระหว่าง A. ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ต้องเป็นแนวคิดหลักของสังคมเพียงแนวคิดเดียวและไม่สามารถถูกละเมิดได้ หรือ B. เป็นหนึ่งในแนวคิดทางเลือก ที่ใครจะสนับสนุนก็ได้ไม่สนับสนุนก็ได้ ต่อให้ไม่สนับสนุนก็ไม่ผิดอะไร เพราะประชาธิปไตยต้องเคารพความเห็นต่าง

ตัวอย่างของการปะทะกันระหว่าง A กับ B ที่เราพอจะนึกออกก็เช่น ตอนเฌอปราง BNK48 ไปออกรายการเดินหน้าประเทศไทย แล้วก็เกิดข้อพิพาทว่า ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นไปสนับสนุนเผด็จการแบบนี้เป็นสิ่งที่รับได้หรือไม่ แล้วคุณช่อ-พรรณิการ์ ของพรรคอนาคตใหม่ก็ออกมา defend เฌอปรางว่า “การสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิ” ซึ่งคำนั้นแทบกลายเป็นตราบาปของคุณช่อที่ถูกฝั่งลิเบอรัลเอามาแซะไปตลอดหลังจากนั้นไปเลย
เวลาผ่านไปเกือบสองปี กับเคสของแก้ม เดอะสตาร์ และ เอก HRK ที่มีคนใกล้ตัวร้องขอให้ทั้งสองคนที่เป็นคนดัง มีคนติดตามเยอะ ใช้ชื่อเสียงของตัวเองเพื่อเป็นกระบอกเสียงต่อต้านการอุ้มหาย ซึ่งพอคุณแก้ม ปฏิเสธ ก็นำไปสู่การขุดทวีตของนักร้องสาวมาแฉว่าเป็นสลิ่มตามมา และนั่นทำให้ข้อพิพาทว่าระหว่าง A กับ B กลับมาอีกครั้ง
ในฐานะคนดังที่ถูกสังคมคาดหวังว่าจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี การเงียบเฉยเรื่องอุ้มหายควรนับได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีหรือไม่เพราะท่าทีนี้ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย หรือเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีผิดหรือถูก
เราตอบคำถามนี้ไม่ได้หรอก เราบอกได้แค่ว่าการมีคำถามนี้เกิดขึ้นมันแปลว่าสังคมเราพัฒนาจากจุดเดิมไประยะหนึ่งแล้ว และท่าทีของคนทั่วไปมีส่วนกำหนดมาตรฐานใหม่ของสังคมแน่ๆ