“เพราะเราอยู่ด้วยกันด้วยความเข้าใจ” กับ CEO ที่ใส่ใจปัญหาสุขภาพจิต

Posted by

การส่งข้อความขอเจ้านายลาหยุด 2 วันด้วยเหตุผลว่า “มีอาการซึมเศร้า” หลายคนก็ไม่แคล้วโดนมองว่า “ป่วยการเมือง” บ้าง และอาจมีผลต่อการประเมินงานว่าไม่ทุ่มเทเต็มที่ เพราะความเจ็บป่วยทางจิตไม่สามารถแสดงออกได้ชัดๆ เหมือนความเจ็บป่วยทางกาย ดีไม่ดี อาจโดนเพื่อนร่วมทีมเอาไปนินทาว่าอู้งานและส่งสายตาเย็นชาใส่เมื่อกลับเข้ามาทำงานอีกครั้งก็เป็นได้

แต่ไม่ใช่ที่ Olark บริษัทผลิตแอปฯ Live Chat ของอเมริกา

Madalyn Parker นักพัฒนาซอฟท์แวร์ของบริษัทป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เธอมีอาการเครียดรวมถึงวิตกกังวลอย่างหนักตั้งแต่เด็ก เธอรับการรักษามาตลอด จนกระทั่งได้เข้ามาทำงานที่ Olark วันหนึ่งเมื่อเธอรู้สึกว่าไม่สามารถทำงานได้เพราะอาการซึมเศร้า เธอจึงตัดสินใจส่งเมลไปหาทุกคนในทีมและให้ Ben Cogleton ซีอีโอของบริษัทรับรู้ นี่คือข้อความที่เธอเขียน

“ถึงทุกคนในทีม เราขอลาหยุดวันนี้กับวันพรุ่งนี้ เพื่อขอดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง หวังว่าในสัปดาห์หน้าจะกลับมาเต็มร้อยได้อีกครั้ง”

และนี่คือสิ่งที่ Ben ตอบกลับมา

“สวัสดี Madalyn ผมขอขอบคุณจากใจจริงที่ส่งอีเมลนี้มาให้ ทุกครั้งที่คุณส่งมา ผมจะใช้อีเมลนี้เตือนตัวเองเสมอว่าการลาหยุดเพราะเรื่องสุขภาพจิตก็สำคัญเช่นกัน ผมไม่อยากเชื่อเลยว่าการลาหยุดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้โดยทั่วไปในองค์กรอื่นๆ คุณเป็นตัวอย่างที่ดีให้พวกเราทุกคน ที่กล้าพูดปมในใจออกมาตรงๆ และจะได้กลับมาทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพได้อีกครั้ง”

หลังจากที่ Madalyn แคปหน้าจออีเมลนี้และแปะไปบนทวิตเตอร์พร้อมข้อความว่า “เมื่อซีอีโอตอบกลับอีเมลขอลาหยุดของคุณเพราะเรื่องสุขภาพจิตและสนับสนุนการตัดสินใจนั้น” ก็มีคนรีทวีตนับหมื่นอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายๆ คนกล้าแชร์ปัญหาอาการซึมเศร้าในที่ทำงานแล้วไม่มีเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายที่เข้าใจ บางคนก็บอกว่าทวิตเตอร์ของเธอทำให้พวกเขามีความหวังที่จะกล้าพูดตรงๆ เรื่องปัญหาด้านจิตใจของตนเอง

ทางซีอีโอได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า “มันยากมากที่จะกล้าพูดตรงๆ เรื่องปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองในที่ทำงาน… และผมอยากขอบคุณความกล้าหาญของ Madalyn ที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนความเจ็บป่วยทั่วไป”

นอกจากนี้ Madalyn ยังเขียนในบล็อกของตัวเอง เพื่อเสนอว่าออฟฟิศควรทำอย่างไรที่จะสนับสนุนพนักงานที่เป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย เช่น

1. หัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานควรเข้าใจและให้กำลังใจ สร้างบรรยากาศที่ทำให้คนในทีมกล้าพูดเรื่องสภาพจิตใจออกมาตรงๆ

2. สภาพการทำงานที่ยืดหยุ่น เช่น สามารถเลือกวันที่จะทำงานที่ออฟฟิศ หรือที่บ้านได้

3. ชั่วโมงทำงานที่ไม่ตายตัวมากนัก สามารถพักได้ถ้ารู้สึกเครียดเป็นต้น

Madalyn กล่าวว่าเธอรู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานในบริษัทที่เข้าใจและเคารพในความแตกต่างของตัวบุคคล

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย คาดการณ์ว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอยู่ประมาณ 3 ล้านคน อย่างไรก็ตามมีคนเข้ามาพบแพทย์เพียง 2 แสนคนเท่านั้น

ที่คนเข้ารับการรักษาน้อยเพราะสังคมคนทำงานยังคงมีอคติกับผู้ป่วยอยู่ เช่น “อยากซึมเศร้าเพราะจะได้ไม่ต้องทำงานหนักกว่าชาวบ้านสิ” หรือ “เป็นความพยายามผลักภาระให้ผู้อื่น และปฏิเสธความรับผิดชอบที่จะทำอะไร”

สิ่งหนึ่งที่สังคมเข้าใจผิดอย่างมากเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าคือคนที่เป็นต้องเศร้าตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ แล้ว คนที่เป็นเวลาอยู่ต่อหน้าคนอื่น มักจะแสดงตนร่าเริงเสียด้วยซ้ำ เพื่อปกปิดอาการตัวเองไว้ เพราะไม่อยากถูกคนรอบตัวตัดสิน

อาการจะแสดงให้เห็นเด่นชัดเมื่อมีอะไรมากระทบใจหนักๆ โดยเฉพาะเวลาที่อยู่คนเดียว และเมื่อเก็บซ่อนอาการเอาไว้คนเดียวหนักเข้า อาจส่งผลถึงแก่ชีวิตเจ้าตัว โดยที่คนรอบข้างไม่ทันเอะใจด้วยซ้ำ ดังเช่น คำพูดที่เรามักได้ยินจากปากญาติผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเสมอๆ ว่า “ปกติแล้วผู้ตายเป็นคนร่าเริง”

ทางแก้สำคัญของเรื่องนี้คือการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ผู้ที่มีอาการรู้สึกปลอดภัยที่จะยอมรับตัวเอง รวมถึงกำลังใจจากคนรอบข้างดังเช่นที่ผู้บริหาร Olark ทำ ซึ่งเราขอปรบมือให้รัวๆ เลย


ลงครั้งแรกใน We Think

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s