“ครั้งหน้า เวลาคอมเมนต์งานกัน คิดทางแก้มาด้วยนะ ไม่ใช่เอาคำถามมาใส่กันอย่างเดียว”
นี่คิอคำพูดของคนตรวจแก้บท (script doctor) ของทีมเขียนบทซีรีส์ที่เราร่วมงานด้วย เขาพูดกับนักเขียนบทหลังจากประชุมงานกันครั้งแรก
ทุกคนในห้องพยักหน้าเห็นด้วย สัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นที่จะทำการบ้านหนักขึ้น
สลาวอย ซิเซ็ก นักปรัชญาสายมาร์กซิสต์ เคยกล่าวไว้ว่า “คนเราเรียนปรัชญาเพื่อรู้วิธีถามคำถามที่ถูกต้อง”

แหงล่ะ มีใครอยากเสียเวลาและพลังชีวิตปีนเขาลูกหนึ่ง เพื่อเรียนรู้หลังจากขึ้นไปถึงยอดว่า “เราปีนภูเขาผิดลูก” บ้างน้า?
สำหรับเรา ก็เคยตั้งคำถามเหมือนกันว่า “คำถามฉลาดๆ” กับ “คำตอบโง่ๆ” อย่างไหนมีประโยชน์กว่ากัน และการทำงานสอนเราว่า “คำตอบโง่ๆ” ชนะใสๆ
เราเคยคิดที่จะรวมกลุ่มทำหนังกับเพื่อนหลายต่อหลายรอบ คิดพล็อตกันมาเยอะ สุดท้ายก็เต็มไปด้วยคำถามฉลาดๆ เช่น ทำไมไม่เพิ่มนู่น ทำไมไม่เพิ่มนี่ ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ทุกคนตั้งคำถามเพื่อหาบทภาพยนตร์ที่ดีที่สุด สุดท้ายมันก็เต็มไปด้วยพล็อตที่น่าสนใจมากองๆ กันไว้ และไม่ได้ทำอะไรต่อ
พอคิดคำตอบที่เป็นผลเลิศไม่ออก สุดท้ายทุกคนก็ท้อและถอดใจกันไป หลายๆ คนก็ทำแต่งานรับจ้าง ล้มเลิกความฝันที่จะทำ original project

หลังจากเรียนรู้จุดบอดของ “คำถามฉลาดๆ” เราก็พบข้อดีของ “คำตอบโง่ๆ” อีกด้วย นั่นเกิดขึ้นหลังจากเราไปทำงานรับจ้างหาเงิน
ตอนที่เราตัดต่องานวิดิโอส่งลูกค้า ในสายงานด้านโปรดักชั่นที่ทุกอย่างแข่งกับเวลา หลายครั้งเราไม่มีเวลานั่งละเลียดทำความเข้าใจทุกซีนที่ลูกค้าเขียนมาในบท หลายครั้งเราอ่านบทและก็ตั้งคำถามว่า วิธีเล่าซีนนี้ที่ลูกค้าทำมามันใช่เหรอ? แล้วมีวิธีทำให้ซีนนี้มันสนุกกว่านี้ไหม? แน่นอนว่า คนตัดต่อคือคนพัฒนางานคนสุดท้าย จะถามอย่างนี้ก็ไม่แปลก
กระบวนการคิดนี้วนเวียนอยู่ในหัว ใช้เวลาเป็นวันๆ งานเดินได้ไม่ถึง 30 วินาที
สุดท้ายรุ่นพี่ก็บอกว่าอย่าไปคิดเยอะ อยากตัดยังไงก็ตัดเหอะ ต่อให้มันออกมาง่อยแค่ไหนก็ตาม เราสับงานเสร็จทันเวลา และมันออกมาง่อยมากๆ แต่มีทุกซีนครบ คนเห็นภาพรวมได้
ผลที่ได้คือ ลูกค้าติกระจุย แต่คำติในตอนนั้น นำไปสู่คำตอบที่ทำให้ทั้งคนตัดต่อและลูกค้ารู้ว่า “ซีนที่ชอบจะเป็นอย่างไร” และนี่ก็คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่คำตอบโง่ๆ มีประโยชน์
แน่นอนโดนติมันก็เจ็บ แต่ถ้าปล่อยวางอีโก้และตั้งใจรับฟังคำวิจารณ์ จะเห็นว่า “คำตอบโง่ๆ” มันนำไปสู่ “คำตอบฉลาดๆ” ได้อย่างรวดเร็ว
หลายๆ ครั้งเมื่อเราเจอคำถามฉลาดๆ เราก็จะกลัวตอบอะไรโง่ๆ แต่เมื่อมีไม่คำตอบใดๆ ออกมา แล้วเราจะเดินหน้ากันได้อย่างไร จะขังตัวเองไว้กับการเป็นผู้เฝ้าดูและวิจารณ์คนอื่นอย่างนั้นหรือ
มีคำพูดหนึ่งที่เราชอบมาก “You’d better be a loser than a spectator” (เป็นพวกขี้แพ้ดีกว่าเป็นคนดู) เราเป็นอยากเป็นพวกขี้แพ้ที่ลงมือทำอะไรสักอย่าง มากกว่าคนฉลาดที่ไม่ได้ทำอะไรมากกว่าให้ความเห็น

เหมือนอย่างในวงเขียนบทที่เราทำงานด้วย คำตอบโง่ๆ ของคนหนึ่งสามารถจุดประกายไอเดียให้คนอื่นต่อยอดได้ดีกว่า คิดคำถามฉลาดๆ โยนลงกลางวงแล้วทุกคนไม่รู้จะตอบยังไง
คิดคำตอบโง่ๆ แล้วโดนตำหนิมันเฮิร์ทนะ แต่มันมีประโยชน์ต่อคนอื่นๆ เสมอ และอยากให้คนที่ไม่กล้าทำอะไรโง่ๆ ลองทำอะไรโง่ๆ ดูสักครั้ง