วันนี้เป็นวันสุดท้ายในตำแหน่งของ Barack Obama ประธานาธิบดีแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกของสหรัฐ ที่ชนะการเลือกตั้ง 2 สมัย ในปี 2008 และ 2012
หลายคนมองว่านี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของชาติอเมริกัน หลังจากที่คนผิวดำเริ่มต้นจากการเป็นทาส มาเป็นพลเมืองชั้นสองภายใต้กฎหมายแบ่งแยกสีผิว จนได้เป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสมอกัน และเป็นผู้นำประเทศในเวลาต่อมา

แต่ก่อนที่เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2008 จะเกิดขึ้น 10 ปีก่อนหน้า เราได้เห็นประธานาธิบดีผิวดำในโรงภาพยนตร์มาแล้ว จากหนังเรื่อง Deep Impact ที่รับบทโดย Morgan Freeman
การรับบทนี้ของนักแสดงรุ่นใหญ่ สร้างกระแสฮือฮาในวงการสื่อ Morgan Freeman ต้องตอบคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “รู้สึกอย่างไรกับการได้เล่นเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์?” และ “คุณต้องทำการบ้านอย่างไรบ้างในการมาพูดสปีชในแบบประธานาธิบดีพูด”
คำถามเหล่านั้นในปี 1998 สะท้อนการเหยียดผิวลึกๆ เพราะสื่อ (ที่มีผู้บริหารเป็นคนขาวทั้งนั้น) มองว่า การที่คนแอฟริกัน-อเมริกันมาเล่นเป็นคนใหญ่คนโตเป็นอะไรที่ “ประหลาด” และ “ไม่น่าเชื่อ” เพราะไม่มีสื่อเจ้าไหนเคยถามนักแสดงผิวขาวว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรถึงจะพูดสุนทรพจน์ได้เหมือนประธานธิบดีมาก่อนแน่ๆ
แต่ Morgan Freeman ก็ตอบอย่างใจเย็นว่า “ผมไม่ได้เล่นเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรก ผมกำลังเล่นเป็นประธานาธิบดีที่บังเอิญผิวดำ” และ “ทำการบ้านเหรอ ผมต้องทำการบ้านอย่างไรจะมารับบทประธานาธิบดีล่ะ เขาก็เป็นคนๆหนึ่ง ทุกคนก็รู้อยู่แล้วนี่ว่าปธน.ทำอย่างไรเวลาพูดกับสื่อ บ้าไปแล้ว ผมไม่ต้องมาทำการบ้านเพื่อจะรับบทเป็นประธานาธิบดีหรอก”

Deep Impact ประสบความสำเร็จพอประมาณกับรายได้ 140 ล้านเหรียญ ถึงทำเงินไม่มากนัก แต่มันได้สร้างภาพจำใหม่ให้สังคมรับรู้ว่า ผู้นำประเทศไม่ได้มีแค่ชายผิวขาวเท่านั้น
และเมื่อวิธีคิดของคนเปลี่ยน ประวัติศาสตร์ก็ถูกสร้าง… นี่คือหนึ่งในผลิตผลจากเรื่องเล่า ที่กลายเป็นความจริงใหม่ของสังคม ที่ Barack Obama ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว

มันเป็นสิ่งเดียวกับคนผลิตรองเท้าที่ผูกเชือกด้วยตัวเอง รวมถึงเสกตบอร์ดที่ลอยจากพื้นได้จริงๆ หลังจากได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Back To The Future
มันเป็นสิ่งเดียวกับกระแสผู้หญิงอเมริกันออกทำงานนอกบ้านในยุค 80 หลังจากเพลง Girls Just Wanna Have Fun ดังกระหึ่มใน MTV ซึ่งกระแส working women ได้รับการเสริมแรงอีกทีจากซีรีส์ดัง Sex and The City อีกด้วย ที่เปลี่ยนกระแสสังคมจากผู้หญิงจะรู้สึกเติมเต็มเมื่อมีผู้ชายดีๆสักคนมาดูแล เป็นผู้หญิงสามารถมีความสุขได้ด้วยการทำตามความต้องการของพวกเธอเอง
มันเป็นสิ่งเดียวกับที่ Lorde นักร้องสาวชาวนิวซีแลนด์ตั้งคำถามกับวัฒนธรรมป็อปในเพลง Royals ว่า ทำไมกระแสต่างๆที่วัยรุ่นเสพต้องมาจากสิ่งที่ผู้ใหญ่ทึกทักเอาว่าวัยรุ่นจะชอบด้วย? และทำไมวัยรุ่นถึงไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมป็อปของตัวเองขึ้นมาได้
และเป็นสิ่งเดียวกับที่คู่รักชาวอเมริกันเปลี่ยนเนื้อเพลงคริสต์มาส Baby It’s Cold Outside เพื่อให้เนื้อเพลงใหม่สร้างค่านิยมที่ว่า “คู่รักต้องให้เกียรติกันและกัน”

หรือแม้แต่ในเมืองไทย ชีวิตของ วิน, ขวัญ, หมอก, สไปรท์, เต้ย, ตาร์, ขนมปัง, ออย, เฟิร์สท์, พละ ฯลฯ จาก Hormones ทั้ง 3 ซีซัน ก็เป็นเรื่องเล่าของวัยรุ่นที่เล่าจากมุมมองของพวกเขาตามที่เป็นจริงๆ นั่นทำให้วัยรุ่นไทยกล้าคิดกล้าพูดมากขึ้น รวมถึงผู้ปกครองก็เข้าใจว่าเด็กสมัยนี้คิดอย่างไรกันอีกด้วย
ไม่ต่างอะไรกับภาพยนตร์เรื่อง Cloud Atlas ที่พูดถึงการส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนสู้เพื่อเสรีภาพ จากคนรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งผ่านเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ, เพลง และภาพยนตร์