“ภายในปี 2050 จะไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติบนท้องถนน”
นี่คือเป้าหมายสูงสุดของ Vision Zero โครงการจากรัฐบาลสวีเดนในปี 1997 ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน คำกล่าวนี้ดูเป็นเรื่องที่แทบเป็นไม่ได้ แต่เมื่อผ่านไปแล้ว 20 ปี Vision Zero กลายเป็นโครงการต้นแบบที่ทั่วโลกจับตา หลังจากที่พบว่า จำนวนของคนที่เสียชิวิตจากอุบัติเหตุจราจร ลดลงไปแล้ว 50%
ในปี 2016 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเพียง 241 คนเท่านั้น ตัวเลขนี้น้อยกว่ายอดผู้เสียชีวิต 4 วันของไทยช่วงสงกรานต์ปีนี้เสียอีกที่มีอยู่ด้วยกัน 248 คนเสียอีก

มีงานวิจัยที่บอกว่า 90% ของอุบัติเหตุบนท้องถนน มาจากความผิดพลาดของมนุษย์ ทำให้หน่วยงานต่างๆ มองว่าถ้าเราแก้ที่ต้นเหตุ สร้างสื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกคน ประชาชนก็น่าจะขับรถกันได้ดีขึ้นไม่ประมาท
แต่ Matts Ake Belin นักยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของการจราจรจากประเทศสวีเดน มองต่างออกไป และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Vision Zero ประสบความสำเร็จ

Matts กล่าว่าระบบถนนที่สวีเดนออกแบบเพื่อความปลอดภัยของคน ทั้งคนขับและคนที่เดินถนน มากกว่าความสะดวกสบายในการขับขี่ รวมไปถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่จูงใจให้คนขับรถอย่างปลอดภัย มากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย และนี่คือ 9 เหตุผลสำคัญที่ทำให้สวีเดนเป็นประเทศต้นแบบด้านการลดผู้เสียชีวิตบนท้องถนน
1. ลดจำนวนแยก เพิ่มจำนวนวงเวียน
การใช้วงเวียนช่วยลดอุบัติเหตุได้มากกว่า เพราะคนจะต้องลดความเร็วเวลาเลี้ยวเป็นวงกลม และหลีกเลี่ยงจังหวะชนกันที่จุดตัดของสองเลนอีกด้วย
2. ตัดถนน 2+1 เลน แทน 4 เลน
การตัดถนนของสวีเดน เน้นที่ความปลอดภัย มากกว่าความสะดวกสบายของคนขับ การมีเพียง 3 เลน และเลนกลางมีหน้าให้คนที่ขับรถในเลนซ้ายและขวา เบี่ยงออกเพื่อแซงรถคันข้างหน้า ถนน 4 เลน มีความกว้างมาก และให้คนอยากขับเร็ว แต่พอเหลือสามเลน คนขับรถเบี่ยงเลนเพื่อแซงได้ยากขึ้น คนเลยขับรถช้าลงและระวังมากขึ้นไปในตัว
3. เพิ่มจำนวนลูกระนาดให้มากขึ้นในเขตเมือง จูงใจให้คนขับแค่ 30 กม./ชม.
หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย มีกฎหมายกำหนดให้ขับรถในเขตเมืองได้ไม่เกิน 50 กม./ซม. อยู่แล้ว แต่ Matts มองว่าความเร็วที่ 50 กม./ชม. ยังมากพอที่จะชนแล้วก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ถ้าลดความเร็วให้เหลือ 30 กม./ชม. จะลดอัตราเสียชีวิตเหลือเพียง 10% เท่านั้น แต่แทนที่จะใช้วิธีทางกฎหมายมาบังคับ สวีเดนกลับสร้างลูกระนาดให้มากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าตลอดเส้นทางในเมือง คนจะไม่อยากขับเร็ว

4. อัพเกรดทางม้าลาย
มีการติดตั้งไฟกระพริบ และ ลูกระนาดบริเวณใกล้ๆ ทางม้าลาย 12,600 จุด เป็นการเตือนให้คนขับรถรู้ว่าจะมีคนข้ามถนนข้างหน้าแต่เนิ่นๆ และลูกระนาดยังช่วยลดความเร็วของรถอีกด้วย
นอกจากนี้ ด้วยการจำกัดความเร็วรถในเขตเมือง ทำให้รถสามารถชะลอและหยุดที่ทางม้าลายได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นเวลาที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะเห็นคนเดินถนนยืนเตรียมข้ามทางม้าลาย เจ้าของรถก็สามารถหยุดและให้คนข้ามได้ทันที ไม่ต้องรอสัญญาณไฟ
5. ห้ามรถเลี้ยวโดยเด็ดขาดที่ทางม้าลาย
บางประเทศจะมีกฎเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด แม้ว่าตรงนั้นจะเป็นทางม้าลายก็ตาม หลายๆ ครั้งรถที่เลี้ยวซ้ายโดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ อาจจะพุ่งชนคนกำลังข้ามถนน แต่สวีเดนออกกฎหมายชัดเจนว่าห้ามเลี้ยวตรงทางม้าลาย
6. ติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วจำนวนมาก
แทนที่จะตั้งด่านตรวจ เพื่อจับคนขับรถเร็วเกินกำหนดมาลงโทษ สวีเดนเพิ่มจำนวนกล้องตรวจจับความเร็ว ที่ติดตั้งเป็นแนวยาวต่อเนื่องตามถนน ทั้งในเขตเมืองและทางหลวงต่างจังหวัด ทำให้สวีเดนเป็นประเทศที่มีกล้องตรวจจับความเร็วต่อพื้นที่ถนนมากที่สุดในโลก กล้องเหล่านี้เอาไว้เตือนใจคนว่าจุดนี้คือเขตสำคัญ อย่าขับเร็ว

7. ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ
มีรถไฟและรถเมล (ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ไม่มีควันดำแต่อย่างใด) ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั้งหมด และในเมืองใหญ่ ยังมีระบบรถราง และเรือไว้คอยบริการอีกด้วย ทางเลือกเหล่านอกจากจะช่วยลดอุบัติเหตุแล้ว ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานอีกด้วย

8. เลนจักรยานที่ปลอดภัย
เช่นเดียวกับขนส่งมวลชน จักรยานก็เป็นทางเลือกยอดนิยมของคนในประเทศ ทั้งในเมืองสตอกโฮล์ม กอเทนเบิร์ก หรือลุนด์ ยิ่งกว่านั้น เมืองมัลโม ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองจักรยานที่ดีที่สุดอันดับ 6 ของโลก Matts ให้ความเห็นว่า ถึงรถยนต์จะเป็นยาพาหนะสำคัญในสังคม ในพื้นที่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้รถ ผู้คนควรใช้ทางเลือกอื่นๆ
9. นโยบายป้องกันการเมาแล้วขับที่ครอบคลุม
นอกจากไลท์เบียร์ (ที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 3%) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ จะวางขายได้เฉพาะในร้านที่รัฐบาลอนุญาต และร้านเหล่านั้นไม่เปิดตอนกลางคืน (ยกเว้นแต่จะไปดื่มที่บาร์)
นอกจากนี้ปริมาณแอลกอฮอล์ของคนขับขี่ยานพาหนะที่ถึงเกณฑ์ว่า “เมา” ของสวีเดนอยู่ที่ 10 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ (ขณะที่ของไทยคือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ โดยมีโทษจำคุกสูงถึง 6 เดือน และถ้าคนขับเป่าแอลกอฮอล์แล้วได้ค่าถึง 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ จะมีโทษจำคุกถึง 2 ปี ส่วนอัตราการปรับเงินจะขึ้นอยู่กับฐานะการเงินของผู้กระทำผิด ถ้ารวยมีรายได้มาก ก็จะต้องจ่ายค่าปรับมากขึ้นตาม

ความสำเร็จที่สวีเดน จุดประกายให้หลายๆ ชาติ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา รวมถึงสาธารณรัฐโดมินิกัน หันมาศึกษาโครงการนี้ และนำไปปรับใช้กับประเทศตัวเองแล้ว แน่นอนว่าได้ผลตอบรับในแง่บวก
จิตสำนึกของคนขับอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหา ถ้าไม่ได้มาพร้อมกับนโยบายด้านการจราจรจากภาครัฐ อย่างที่นักยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของการจราจรจากประเทศสวีเดนทิ้งท้าย
“เพราะความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ… เราจำเป็นต้องออกแบบระบบที่ช่วยเหลือผู้คนไม่ให้ก่ออุบัติเหตุที่อันตรายถึงชีวิต”