หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของบ้าน ผู้ตื่นก่อนนอนทีหลัง ที่อาจใช้เวลาอยู่ที่บ้านนานกว่าเจ้าของจริงๆ ด้วยซ้ำ หลายๆ ครั้งคนที่ทำอาชีพดังกล่าวถูกเรียกให้เป็น “แม่” ของบ้าน (เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง) มีเงินค่าตอบแทนให้ บางคนพักและกินอยู่กับเจ้าของบ้านอีกเช่นกัน
แต่นั่นเป็นการดูแลที่ดีเพียงพอหรือไม่?
“ได้นายดีก็เหมือนถูกหวย ได้นายแย่ก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น”
นี่คือคำกล่าวของสมร พาสมบูรณ์ ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างทำงานบ้านมากว่า 40 ปี

ตลอดการทำงานสมรเคยผ่านมานายจ้างที่ดูถูกเหยียดหยามมาหลายครั้ง ดังเช่นบทสัมภาษณ์ของเธอกับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
“พวกตระกูลผู้ดีเก่า ยศสูงๆ พวกนี้จะเจ้ายศเจ้าอย่าง ชอบดูถูกเหยียดหยาม เคยไปอยู่บ้านหมอคนหนึ่ง เขาใช้ให้ล้างมีด เกิดพลาดมีดเฉือนเข้านิ้วเลือดไหล เมียหมอเข้ามาด่าเลย อีโง่ ไม่มีตาหรือไง ไม่มีสมองเหรอ”
เช่นเดียวกับสมพร พึ่งสูงเนิน แม่บ้านจากโคราช วัย 48 กล่าวไว้ว่า
“อยู่กินบ้านนายจ้าง สภาพไม่ต่างจากทาส หนีไปไหนไม่ได้ ชั่วโมงทำงานไม่มีวันจบสิ้น ตื่นตีสี่ตีห้าไปจ่ายตลาด กลับมาทำงานบ้าน พักเที่ยง บ่ายก็ลุยต่อ เย็นก็เตรียมกับข้าว กว่าจะเสร็จงานก็ปาเข้าไปห้าทุ่ม บางคืนนายกลับดึกเจอเคาะประตูปลุกให้มาชงกาแฟให้กินอีกก็มีบางครั้งยกครอบครัวไปเที่ยวต่างจังหวัดก็หนีบเราไปด้วย ปากบอกจะชวนไปเที่ยว แต่ความจริงตั้งใจเอาเราไปใช้งาน”

สำนักข่าว TCIJ ได้รายงานไว้ว่าคนทำงานแม่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการศึกษาต่ำกว่ามัธยมต้น ปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษาบีบให้คนเหล่านั้นมีทางเลือกชีวิตไม่มากนัก และเข้าสู่วงจรอาชีพที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ที่สรุปมาได้ 4 ข้อด้วยกัน
1) เวลาการทำงานไม่แน่นอน การที่พักอาศัยในบ้านของนายจ้างทำให้แรงงานต้องทำงานตลอดเวลาและขาดอิสระ
2) เป็นงานที่ซ้ำซาก ขาดความก้าวหน้า ที่สำคัญเป็นงานที่จำกัดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเมื่อเทียบกับงานอื่นๆ
3) รายได้ขึ้นอยู่กับความพอใจของนายจ้าง
4) คุณภาพชีวิตขึ้นอยู่กับความพอใจของนายจ้าง นายจ้างอาจถือสิทธิทำร้าย ทุบตี ใช้วาจาไม่เหมาะสม

ยิ่งกว่านั้นจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าอาชีพแม่บ้านมีรายได้น้อยที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเกษตรกร มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 6,000 บาท ไม่มีชั่วโมงทำงานที่แน่นอน บางครั้งถูกใช้งานหนักไปจนถึง 15 ชั่วโมงต่อวัน หลายๆ คนไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดเทศกาล หรือพักร้อน
แต่ทำไมคนเหล่านั้นถึงโดนเอาเปรียบล่ะ?
จากการสำรวจของ Human Rights Watch พบว่าปัญหาเกิดจากคนที่จ่ายเงินให้คนมาจ่ายตลาด ทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน และดูแลลูกให้นั้น ไม่ได้คิดว่านั่นคือการ “จ้างงาน” จริงๆ น่ะสิ
Rothna Begum นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า “คนจัดหางาน นายจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐมองว่างานบ้านไม่ได้ใช้ทักษะอะไร ก็เลยมีอคติว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม”
และยิ่งรวมกับค่านิยมสังคมอุปถัมป์ของสังคมไทย ลูกจ้างที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาจะถูกมองเป็นคนด้อยโอกาสที่นายจ้างชุบเลี้ยง
“สังคมไทยมองลูกจ้างทำงานบ้านเป็นเรื่องของบุญคุณ ข้าวแดงแกงร้อนราดหัวมาตั้งแต่ยุคที่ยังมีทาส เมื่อนายจ้างพยายามบอกว่าดูแลเหมือนในครอบครัว ลูกจ้างเลยไม่กล้าเรียกร้องอะไร” กล่าวโดยจันทนา เอกเอื้อมณี ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

จันทนาเสนอว่าในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแม่บ้าน ต้องเริ่มจากเปลี่ยนทัศนคติว่าพวกเขาคือ “พนักงาน” โดยเริ่มจากเปลี่ยนคำเรียกอาชีพให้เป็น “ลูกจ้างทำงานบ้าน” เพื่อเน้นย้ำว่าพวกเขาคือแรงงานในระบบ ที่ขายทักษะแลกเงินเหมือนอาชีพอื่นๆ
นอกจากนี้ NGO ต่างๆ ยังเรียกร้องให้ปฎิบัติต่อลูกจ้างทำงานบ้านตามพรบ. คุ้มครองแรงงาน เช่น มีวันหยุดประจำสัปดาห์ มีวันหยุดตามประเพณีอย่างน้อย 13 วันต่อปี มีวันลาป่วย ลาพักร้อน
แต่ที่สำคัญ สถานะลูกจ้างทำงานบ้านในปัจจุบันยังถือเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้ไม่สามารถกำหนดรายได้ขั้นต่ำ ชั่วโมงทำงาน รับสิทธิประกันสังคมจากคนที่จ้าง และเรียกร้องสิทธิจากการถูกโกงได้ เพราะการจ้างงานลักษณะนี้มักไม่ได้การทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งดูย้อนแย้งมากๆ เพราะอาชีพนี้ต้องทำงานต่อเนื่องไม่ได้จบไปเป็นจ็อบๆ แบบฟรีแลนซ์ แต่กลับถือเป็นแรงงานนอกระบบเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ขณะที่หลายๆ ฝ่ายกำลังเรียกร้องให้กับลูกจ้างทำงานบ้านชาวไทยเป็นแรงงานในระบบอยู่นั้น กลับเกิดปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม นายจ้างหลายๆ คนปฏิเสธที่จะคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านตามกฎหมาย และหันไปจ้างแรงงานจากพม่า ลาว และกัมพูชาแทน

ถึงแม้สามประเทศนี้รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้เข้ามาทำอาชีพลูกจ้างทำงานบ้านได้ แต่นายจ้างจำนวนไม่น้อยกลับจ้างแบบผิดกฎหมาย และใช้ความเป็นคนเถื่อนมาขู่บังคับให้ลูกจ้างต่างด้าวต้องทำงานหนักกว่าปกติ และได้ค่าตอบแทนที่ต่ำติดดิน
ในระดับสากล เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา จากที่ประชุมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ International Labour Organization (ILO) ได้ออกอนุสัญญาคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านขึ้นมา ที่เรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศให้สิทธิพวกเขาเท่ากับพนักงานบริษัททั่วไป อย่างไรก็ดีตัวแทนหลายๆ ประเทศกลับมองว่างานที่เกิดขึ้นในบ้านถือเป็นเรื่องส่วนตัว รัฐบาลไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย ทำให้การเรียกร้องสิทธิเรื่องนี้ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

ถึงอย่างนั้น ถ้าลองคิดให้ดีๆ ก็เพราะลูกจ้างเหล่านี้มิใช่หรือ ที่ช่วยทำงานบ้านให้ นายจ้างจึงมีเวลาไปทุ่มเทกับงานอื่นที่พวกเขาสนใจได้เต็มที่ และเราจะกล้าปฏิเสธอีกหรือว่าคนที่ทำงานบ้านไม่ถือว่าเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ?
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐจะคุ้มครองพวกเขาด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับที่พวกเราจะปฏิบัติกับเขาเหมือนกับคนทำงานทั่วๆ ไปคนหนึ่ง
ที่มา
http://www.posttoday.com/analysis/report/402037
https://www.hrw.org/news/2011/06/16/ilo-new-landmark-treaty-protect-domestic-workers
https://www.hrw.org/news/2016/06/16/international-domestic-workers-day-turn-rights-reality
http://www.tcijthai.com/news/2014/08/watch/4089
http://voicelabour.org/ลูกจ้างทำงานบ้าน-รณรงค์/