เพราะอะไร ทำไมเราถึง “กลัวความล้มเหลว”?

Posted by

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมใครหลายคน มุ่งมั่นตั้งใจทำอะไรบางอย่าง แต่พอจะลงมือจริงๆ ปุ๊บกลับใจฝ่อไปซะอย่างนั้น? นักจิตวิทยาบอกว่านั่นคืออาการ “กลัวความล้มเหลว” ซึ่งมันน่าประหลาดมาก เพราะว่า การไม่ลงมือทำ = ล้มเหลว 100% โดยอัตโนมัติ แต่คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะ “ไม่ทำ” ทั้งๆ ที่ถ้าการลงมือทำเท่านั้น เป็นทางออกเดียวที่จะไม่ล้มเหลว

ในทางจิตวิทยาอธิบายไว้ว่า การกลัวความล้มเหลวนั้น เกี่ยวข้องกับสัญชาตญาณเอาตัวรอดของมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่ต้องการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเอาตัวรอด และจับคู่กันเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ ดังนั้นความต้องการและความกลัวพื้นฐานของมนุษย์คือ การอยากเป็นที่รัก อยากได้รับการยอมรับ และกลัวไม่เป็นที่รัก กลัวคนอื่นไม่ยอมรับ ไปพร้อมๆ กัน สัญชาติญาณนี้ทำให้คนเราพยายามทำตัวให้ดูดีในสายตาคนอื่นอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงไม่ทำสิ่งที่ทำให้ตัวเองดูไม่ดีในสายตาคนอื่น

การทำสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย หรือทำสิ่งที่ตัวเองไม่มั่นใจ กลไกของสมองที่เรียกว่า “การปกป้องตัวตน” หรือ ego barrier จะทำงานทันที เราจะจินตนการถึงความเจ็บปวดจากสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เห็น worst case scenario ว่าคนอื่นจะผิดหวัง หรือดูถูกเหยียดหยามเราอย่างไร ความเจ็บปวดของการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมที่ตัวเองรู้สึกไปล่วงหน้า คือสิ่งเดียวการกลัวความล้มเหลว ที่ทำให้เราถอยเข้า comfort zone ที่เคยชิน

ยิ่งกว่านั้น ego หรือการยึดมั่นตัวตนของเรา (ว่าเราเป็นคนดี คนเก่ง) คือสิ่งที่ทำให้เรากลัวความล้มเหลวจากการลงมือทำอีกด้วย การที่เป้าหมายที่ต้องการยังไม่เกิดขึ้น เพราะยังไม่ลงมือทำ ego ของเราสามารถบอกกับตัวเองได้ว่า “ฉันเป็นคนดี คนเก่งนะ ที่ยังไม่สำเร็จ เพราะฉันยังไม่ได้ลงมือทำเฉยๆ” แต่ถ้าลงมือทำแล้วล้มเหลว ความล้มเหลวจะเป็นหลักฐานฟ้องว่า “เราไม่ได้เป็นคนดีคนเก่งอย่างที่คิด”

ไม่ต่างอะไรกับการขึ้นศาล ถ้ายังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าจำเลยผิดจริง จำเลยก็จะไม่ผิด ego ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีหลักฐานว่าตัวเองมันห่วย เราก็ยังมีความสุขกับการบอกตัวเองว่าเราเป็นคนดี คนเก่งต่อไปได้ เพราะการเจอความจริงที่ขัดแย้งกับสิ่งที่เรายึดถือในใจ สร้างความเจ็บปวดทางจิตใจอย่างมหาศาล

นอกจากสัญชาตญาณแล้ว สังคมยังปลูกฝังให้คนกลัวความล้มเหลวอีกด้วย ตัวอย่างง่ายๆ คือในโรงเรียน การวัดผลทางการศึกษาคือการให้คะแนน จากการตอบคำถามที่ถูกต้องภายในครั้งเดียว ไม่มีข้อสอบใดที่ให้นักเรียนตอบไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอคำตอบที่ถูกต้อง ตอบผิดครั้งแรกก็ไม่ได้คะแนนทันที

การวัดผลแบบนี้ ทำให้เห็นว่าคนเก่งคือคนที่คือคนที่ทำได้ดีตั้งแต่ครั้งแรก คนที่ทำไม่สำเร็จในครั้งแรกจะถูกตัดสินว่าด้อยกว่าในทันที เช่นได้เกรดน้อยกว่า ได้อันดับน้อยกว่า และระบบแบบนี้ ยิ่งไปกดดันให้คนไม่กล้าเสี่ยงเข้าไปอีก

แล้วเราจะก้าวข้ามการกลัวความล้มเหลวได้อย่างไรล่ะ นักจิตวิทยาให้คำตอบดังนี้:

1. เริ่มต้นจากเป้าหมายเล็กๆ: แทนที่จะฝันถึงภาพใหญ่ ที่ใช้เวลานานกว่าจะไปถึง ให้ซอยเป้าหมายนั้น เป็นการกระทำเล็กๆ ที่ทำได้ในแต่ละวันดู การมีเป้าหมายที่ไม่ยากเกินไป อยู่ตรงหน้า จะจูงใจให้เราไปโฟกัสที่เป้าหมายแทนที่จะคิดว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไรถ้าเราทำไม่สำเร็จ รวมถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน จะทำให้เรามั่นใจขึ้นด้วย

2. ซ้อม ซ้อม ซ้อม และก็ซ้อมกับตัวเอง: มีงานวิจัยที่สรุปผลได้ว่า คนจะกลัวความล้มเหลวน้อยลงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเขามั่นใจว่าไม่มีใครมีจะมาตัดสิน รวมถึงไม่มีใครมาเห็นและมองความล้มเหลวของเขาในแง่ลบ ดังนั้นถ้าเราต้องทำอะไรที่ไม่คุ้นเคยต่อหน้าคนอื่น เช่นพูดภาษาต่างประเทศ หรือสัมภาษณ์งาน เราควรหาเวลาซ้อมคนเดียวในช่วงเริ่มต้นที่เรายังไม่เก่งนัก เพื่อสร้างความมั่นใจ และสบายใจที่จะลองผิดลองถูกได้เต็มที่

3. โฟกัสว่าเราจะทำอะไร แทนที่จะโฟกัสว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร: ในโลกนี้มีทั้งปัจจัยที่คุมได้และคุมไม่ได้ การกลัวความล้มเหลวมาเกิดจากตัวเราที่สนใจกับการแสดงออกของคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุมไม่ได้ ให้หันกลับมาโฟกัสการกระทำของเราว่า เราทำได้เต็มที่ไหม ถ้าเราทำเต็มตามความสามารถ ก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจ นั่นทำให้เรากลัวความล้มเหลวน้อยลงเช่นกัน


ลงครั้งแรกที่ Facebook Page ของ Free Spirit Club สามารถดูโพสต์ต้นทางได้ที่นี่

ที่มา

https://psychology.knoji.com/why-people-fear-failure/

https://www.mindtools.com/pages/article/fear-of-failure.htm

https://psychcentral.com/blog/why-we-all-have-fear-of-failure/

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s