“พวกซึมเศร้าวอนนาบี”
ความเจ็บป่วยทางจิต เป็นเรื่องที่คนสามารถพูดกันเปิดเผยได้มากกว่าแต่ก่อน ถึงอย่างนั้น มันก็ทำให้เราได้ยินคำพูดแบบข้างบนมากขึ้นด้วย
เมื่อโรคซึมเศร้าถูกพูดถึงกันมากขึ้น หลายๆ คนอาจจะมองว่ามันก็เป็นแค่ข้ออ้างของคนจิตใจอ่อนแอ โดยเฉพาะยิ่งคนที่พูดเรื่องนี้ในวงกว้างส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ ยิ่งทำให้คนตีตรากันได้ง่ายๆว่าเป็นพวก “ซึมเศร้าวอนนาบี” หรือ wannabe depressed ในภาษาอังกฤษ พวกคนอ่อนแอที่ใช้โรคมาเป็นข้ออ้างให้คนยอมรับ

แน่นอนว่า การแสดงความโศกเศร้า หรือการอยู่ภาวะทุกข์ใจ ไม่เท่ากับการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่การแปะป้ายคนอื่นที่กำลังแสดงความโศกเศร้าเสียใจ ว่าเป็นซึมเศร้าวอนนาบีบ้าง เรียกร้องความสนใจบ้าง บอกว่าความรู้เศร้ามันเท่ห์หรือเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ใจบอบบางและบอกให้หยุดการกระทำแบบนี้ เราเข้าใจว่าคนพูดเค้าปรารถนาดีนะ ว่าไม่อยากให้คนอื่นๆ ใช้โรคซึมเศร้าเป็นข้ออ้าง แต่การที่พูดแบบนั้นแปลว่าเขาเข้าใจปัญหาสุขภาพจิตผิดมากๆ เลย
ปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้มีแค่โรคซึมเศร้า ที่เกิดจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล ที่ต้องรักษาด้วยการทานยาควบคู่ไปด้วยเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อตนเองและผู้อื่นมากมาย เช่น หลงตัวเอง (Narcissism), ต่อต้านสังคม (Sociopath) หรือ ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder) ซึ่งต้องรับการบำบัดจากจิตย์แพทย์ (ในกรณีที่ต้องให้ยาร่วมด้วย) หรือ นักจิตวิทยา ในการปรับพฤติกรรมในชีิวิตประจำวัน
ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ (clinical depression) หรือการแสดงความเศร้าออกมาเพื่อเรียกร้องความสนใจ ที่หลายๆคนมักเอามาโจมตีว่าเป็น “ซึมเศร้าวอนนาบี” คนทั้งสองกลุ่มล้วนมีปัญหาสุขภาพจิตทั้งคู่ และควรได้รับความช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาไม่ต่างกัน