คนฝรั่งให้เช่า! เมื่อชาวจีนอยากได้ CEO ตะวันตกเก๊ๆ มาเสริมภาพลักษณ์บริษัท

Posted by

ชายชาวฝรั่ง รูปร่างสูงโปร่ง ดูสันทัด แต่งตัวในชุดสูท กางเกงแสล็ค รองเท้าหนัง ดูเนี้ยบ มากันเป็นกลุ่ม 6 คน เดินเข้าไปในงานตัดริบบิ้นเปิดโรงงานใหม่ที่เมืองจีน คนที่ดูอาวุโสที่สุดเดินเข้าไปจับมือและแลกนามบัตรกับนักธุรกิจชาวจีนที่มาร่วมงาน ในนามบัตรนั้นเขียนว่าเป็นผู้บริหารของบริษัทจากอเมริกา ส่วนอีก 5 คนที่เหลือมาจากแผนกต่างๆ ผู้บริหารพูดสปีชกล่าวถึงวิสัยทัศน์องค์กร และตัดริบบิ้น มีคนปรบมือกึกก้อง

แต่ในความเป็นจริง บริษัทนั้นเป็นของคนจีน ฝรั่งกลุ่มนั้นเป็นเพียงคนที่ถูกจ้างมาในราคา 1,000 เหรียญต่อสัปดาห์ต่อคน เพื่อสร้างภาพลักษณ์อินเตอร์เนชันแนลให้กับโรงงาน

เช่นเดียวกับ Katie สาวอเมริกันวัย 25 ปี เธอถูกจ้างให้มาเป็นเลขาปลอมๆ ให้กับผู้บริหารชาวจีนคนหนึ่ง ซึ่งเขาจะพา Katie ไปด้วย เวลาไปงานเลี้ยงสังสรรค์ทางธุรกิจ Katie ไม่ใช่พนักงานบริษัทนั้น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้บริหารคนนั้นทำธุรกิจอะไร เธอมีหน้าที่เพียงยิ้มแย้มและทักทายทุกคนเล็กๆ น้อยๆ 

ผู้บริหารคนนั้นจ้าง Katie มาออกงานด้วย ในราคาครั้งละ 145 ดอลลาร์ เพราะต้องการโชว์ออฟให้คนอื่นๆ เห็นว่าบริษัทตัวเองเติบโตในระดับนานาชาติจนต้องจ้างฝรั่งมาเป็นเลขา

“หน้าตาสำคัญกว่าชีวิตเสียอีก”

กล่าวโดย Zhang Haihua ผู้เขียนหนังสือ “Think Like Chinese” และภาพลักษณ์ของฝรั่งผิวขาวในสายตาคนจีนนั้นมาคู่กับ ความร่ำรวย มีความสามารถและมีการศึกษาสูง ทำให้พวกเขาเป็นที่ต้องการ 

นักแสดง นางแบบ ครูสอนภาษาอังกฤษ หรือชาวต่างชาติที่เป็นฝรั่งหาลำไพ่พิเศษด้วยการรับบทเป็นคนอาชีพต่างๆ โดยมีโมเดลลิ่ง เอเจนซี่ของจีนจัดหางานให้

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว โครงการนิคมอุตสาหกรรมและบ้านจัดสรร ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด และสิ่งหนึ่งที่เจ้าของกิจการใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าของสถานที่ คือสร้างภาพลักษณ์ระดับโลก เช่น จัดอีเวนท์เปิดตัวแล้วจ้างวงดนตรีต่างชาติมาเล่น การจ้างคนต่างชาติมาเป็นช่างภาพทำให้คนเชื่อว่าขนาดสื่อต่างประเทศยังให้ความสนใจ 

แม้ว่าจะเป็นจังหวัดห่างไกลที่สาธารณูปโภคยังไม่สมบูรณ์พร้อม ภาพลักษณ์นานาชาติ ทำให้นายหน้าสามารถเอาไปขายได้ว่ามันมีศักยภาพเป็น International City ในอนาคต ราคาที่ดินจึงพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากมุกนี้ใช้กันมานับสิบปี ความน่าเชื่อก็เริ่มลดลง โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลาง พวกเขาเริ่มจับไต๋กันได้ และให้ความเห็นไว้ว่า

“การจ้างฝรั่งมาเล่นดนตรีในงานเปิดตัวอสังหาริมทรัพย์มันไม่เห็นจะน่าสนใจตรงไหน ไม่ได้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับโครงการเหล่านั้นเลย”

“ลูกค้าที่มีความรู้หน่อย ก็ดูออกอยู่ดีคนไหนเป็นของจริงคนไหนเป็นนักแสดงรับจ้าง”

นอกจากนี้ การจ้างฝรั่งมารับบทเป็นนักธุรกิจบ่อยๆ ทำให้นักธุรกิจจริงๆ รู้สึกเดือดร้อนไปด้วย John Lombard นักธุรกิจชาวแคนาดาที่อาศัยในเมืองจีนมากว่า 20 ปีให้สัมภาษณ์ต่อต้าน

“สำหรับคนที่เป็นนักธุรกิจจริงๆ นักแสดงเหล่านั้นมันน่ารำคาญสุดๆ คนเหล่านั้นทำลายภาพลักษณ์ของชาวต่างชาติทั้งหมด และทำให้คนอื่นไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อถือผม

เมื่อมองในเชิงวัฒนธรรม Li Bochun นักวิจัยด้านวัฒนธรรมมองว่า ธุรกิจโมเดลลิ่งแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนจีนไม่เชื่อในอัตลักษณ์ตัวเอง กลายเป็นทาสลัทธิบูชาคนต่างชาติ ทั้งๆ ที่จีนก็มีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ดีมาช้านาน

Li Bochun ยังมองว่าการจ้างฝรั่งมาเสริมภาพลักษณ์แบบนี้คือการโกง

การสร้างโยงภาพลักษณ์ของสินค้ากับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจเป็นหนึ่งในกลยุทธพีอาร์ที่มีมาช้านาน แต่นั่นก็นำไปสู่คำถามสำคัญว่าธุรกิจที่เริ่มต้นด้วยภาพลักษณ์ที่สวยงามเกินจริง จะรับมือกับความจริงที่ไม่สวยงามต่อจากนี้ได้อย่างไร ถ้ามีคน “รู้ทัน”

Leave a comment