“ผมเป็นเจ้าชายจากไนจีเรีย ตอนนี้กำลังตกยาก ต้องการเงินจำนวนหนึ่งมาช่วยเหลือ จากนั้นผมจะโอนคืนให้เป็นสิบๆ เท่า” นี่คือเนื้อความจากอีเมลต้มตุ๋นที่หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตากันดี หลายๆ คนก็กดลบทิ้งไป แต่คนจำนวนไม่น้อยก็หลงกลจริงๆ

เช่นเดียวกับสาวๆ ที่อาจเคยเจอหนุ่มฝรั่งผมทอง ตาสีฟ้า ฐานะดีมาจีบ พอหยอดคำหวานทางอีเมลหรือโซเชียลสักพัก ก็ขอให้โอนเงินให้ หลายคนคิดว่าคนๆ นั้นรวยและเชื่อถือได้ สุดท้ายโอนไปปุ๊บ เงินก็อันตรธานหายไป แน่นอนว่าคนที่ส่งข้อความไม่ใช่ฝรั่งที่ไหน แต่เป็นหนุ่มไนจีเรียนั่งอยู่หลังคีย์บอร์ดในร้านเน็ต
ไนจีเรีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาตะวันตก ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ มีประชากรมากกว่า 182 ล้านคน แต่ 43% ของคนหนุ่มสาวนั้น “ว่างงาน” ทำให้หลายคนหันไปประกอบธุรกิจมืดเช่น ขายยาเสพติด บางคนใช้ทักษะทางภาษาอังกฤษมาเป็นนักต้มตุ๋นออนไลน์ (scammer) หรือที่เรียกว่า Yahoo Boy

Scammer เป็นปัญหาหนักของประเทศ รัฐบาลออกกฎหมายมาตรา 419 เพื่อปราบปรามแต่ไม่เป็นผลนัก แต่ Gbenga Sesan นักธุรกิจเพื่อสังคมชาวไนจีเรีย คิดทางออกหนึ่งได้
“ถ้าพวกเขาฉลาดพอที่จะต้มตุ๋น พวกเขาก็น่าจะฉลาดพอที่จะสร้างแอปพลิเคชั่นได้สิ”
Gbenga จบด้านวิศกรรมไฟฟ้าและอิลเล็คทรอนิกส์ และทำงานเป็นที่ปรึกษาด้าน IT ให้กับองค์กรระดับนานาชาติหลายๆ แห่ง เช่น Microsoft มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ หน่วยงานของสหประชาชาติ จากนั้นในปี 2007 เขาได้ก่อตั้งบริษัท Paradigm Initiative Nigeria หรือ PIN และนั่นคือจุดเปลี่ยนของชีวิตเยาวชนไนจีเรียจำนวนมาก
บริษัทของเขาทำโครงการสอนเยาวชนเรื่องการเขียนโปรแกรม และเปลี่ยนนักต้มตุ๋นออนไลน์ให้มาเป็นคนทำซอฟท์แวร์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

“อาจารย์หลายๆ คนมองมาที่ผมแล้วบอกว่า คนพวกนี้ไม่เหมาะสำหรับคุณหรอก”
“ผมรู้ว่าผมอาจตัดสินใจพลาด แต่ผมไม่กลัวความล้มเหลว”
หนึ่งในนักเรียนของเขาได้สร้างแอปฯ ที่ช่วยคัดกรองป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ด้วยการใช้ระบบจดจำเสียง นักเรียนของเขาอีกคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นแฮคเกอร์มาก่อนได้สร้างแอปฯ ที่ช่วยให้คนไข้สามารถดูข้อมูลทางการแพทย์ได้ในทันที

นอกจากอดีตนักต้มตุ๋นแล้ว โครงการของ PIN ยังนำความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ไปให้นักเรียนที่ด้อยโอกาส Gbenga เชื่อว่าความรู้นี้สามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ เช่นเดียวกับที่เขาเคยเป็นเด็กยากจน ที่ชีวิตเปลี่ยนไปเพราะได้เรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์
“ผู้คนบอกว่าสภาพชุมชนแบบนี้จะไปมีหวังอะไร แต่ผมเชื่อว่าถ้าคนที่ได้เข้าเรียนกับเรา 7 สัปดาห์ เขาจะกลับไปเป็นบุคคลต้นแบบให้กับชุมชนของพวกเขาได้”

ความตั้งใจของ Gbenga Sesan ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อจาก CNN ให้เป็น หนึ่งในสิบผู้นำด้านเทคโนโลยีของแอฟริกาในปี 2012 และ ได้รางวัลกิจการเพื่อสังคมแห่งปีในปี 2014
“เด็กหลายๆ คนมีชีวิตที่ยากลำบาก ผมอยากให้พวกเขาเข้าใจว่า พวกเขาเป็นคนที่เขาอยากเป็นได้ ด้วยเทคโนโลยี ICT”
“ผมต้องการฝึกฝนเยาวชน เชื่อมต่อโอกาสให้พวกเขาด้วยเทคโนโลยี”
Gbenga Sesan กล่าวทิ้งท้าย