ณ แผ่นดินซิมบับเว ประเทศเอกราชใหม่ที่แยกตัวจากจักรวรรดิอังกฤษในปี 1980 ชายคนหนึ่งพาผู้คนหลายสิบชีวิตรวมทั้งตัวเขา มาที่ดินแดนยากจนแห่งนี้ ถึงแม้รัฐบาลของนาย Canaan Banana บอกล่วงหน้าว่า “เราไม่มีเงินจ้างพวกคุณหรอกนะ”
นักร้องผู้เพิ่งซื้อคฤหาสน์หลังงามให้คุณแม่อาศัยกลางกรุงไมอามี่ บอกว่าเขามีเงินมากเกินพอแล้ว และยินดีเล่นดนตรีเพื่อตอบสนองอุดมการณ์รับใช้พระจักรพรรดิไฮเลเซลาสซีที่ 1 อัครศาสดาลัทธิราสตาฟารี เพื่อปลดปล่อยชาวอาฟริกันจากอำนาจคนขาว ให้คนผิวสีได้เป็นนายของบ้านเกิดตัวเอง เลยมาเปิดคอนเสิร์ตให้ไม่เอาค่าตัว แถมจ่ายค่าเดินทางเองด้วย เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองวันชาติประเทศเกิดใหม่ ต่อหน้าผู้คนเรือนแสน ที่พังรั้วสนามกีฬาแห่งชาติเข้ามาฟัง
เขาคือ “ศาสดาขบถ” Bob Marley จากจาไมก้า
การแสดงของ Bob Marley ที่นั่น คือคำประกาศชัยชนะและเอกราชของคนอารฟิกัน กล่าวได้ว่านั่นคือจุดสูงสุดในอาชีพเขา ก่อนที่ศิลปินเร็กเก้จะสิ้นลมในปีต่อมา
ใครจะคิดว่าเด็กสลัมย่าน Trenchtown จะมาได้ไกลเพียงนี้….
กลางเมืองหลวง Kingston เมื่อนอร์วัลทหารหนุ่มใหญ่ผิวขาว มาตกหลุมรักสาวผิวดำชนชั้นแรงงานนามว่า ซีเดลล่า ทั้งสองแตกต่างกันทางฐานะและเงินทอง และปัญหาใหญ่ขึ้นเมื่อฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ หลังจากเด็กน้อย Bob เกิด นอร์วัลก็หายไปจากชีวิตครอบครัว Bob เกลียดการถูกทอดทิ้ง ความรู้สึกนี้ทำให้เขาเข้าถึงจิตใจของผู้ถูกดขี่ และกลั่นกรองออกมาเป็นบทเพลงในภายหลัง

ซีเดลล่าต้องทำงานหนักเพื่อส่ง Bob เล่าเรียน แต่หลังจากจบประถม เด็กน้อยคิดว่าเขาไม่อยากทำให้แม่ต้องเหนื่อยเปล่า ในช่วงวัยรุ่นเขาเริ่มฟอร์มวงกับเพื่อนในนาม The Wailing Rude Boys ในปี 1963 และแต่งเพลงที่พูดถึงสิ่งที่เขารู้จักดีที่สุด ได้แก่ “ชีวิตในสลัม” ตามชื่อวงที่พูดถึง Rude Boys หรือวัยรุ่นเกเรป่วนเมือง กลุ่มคนที่ผู้ใหญ่ตราหน้าว่าเป็นขยะสังคม ต่อมาทางวงได้เปลี่ยนชื่อเป็น The Wailing Wailer และ The Wailers ตามลำดับ วงนี้ประสบความสำเร็จพอตัว

หลังจากเล่นดนตรีด้วยกัน 5 ปี จุดเปลี่ยนสำคัญของวงก็มาถึง เมื่อ Bob Marley และเพื่อนร่วมวงเข้าลัทธิ “ราสตาฟารี” ลัทธินี้เปรียบดังศาสนาของคนดำ เป็นเหมือนภาคพิเศษของศาสนาคริสต์ ที่กล่าวว่าคนดำคือลูกหลานพระเจ้าที่พลัดถิ่น พวกเขาต้องต่อสู้เพื่อให้ตัวเองได้เดินทางกลับอาฟริกา ดินแดนศักดิ์สิทธิของพวกเขา
และนั่นคือเป้าหมายของ Bob Marley ในเวลาต่อมา เขาเริ่มแต่งเพลงปลุกใจให้คนลุกขึ้นมาทวงสิทธิตัวเอง อย่างเพลง Get Up, Stand Up ซึ่งกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่ต้องเล่นในทุกคนเสิร์ต, เพลง Buffalo Soldier ที่พูดถึงการสร้างชาติจาไมก้าจากแรงงานทาสผิวดำ, เพลง Exodus ที่กระตุ้นให้คนดำพลัดถิ่นลุกขึ้นมากลับแผ่นดินบ้านเกิด, เพลง Redemption Song ที่ปลอบขวัญคนอาฟริกันทุกคนให้สู้ต่อไป และเพลงสร้างชาติอย่าง Zimbabwe ที่แต่งเพื่อสนับสนุนนักรบกองโจรให้ปลดแอกอาณานิคมโรดีเซียจากอังกฤษ และสร้างชาติซิมบับเวของตัวเอง และหนึ่งปีต่อจากนั้น ซิมบับเวได้รับอธิปไตย และ Bob Marley ได้แสดงสดครั้งประวัติศาสตร์

บทเพลงแห่งการต่อสู้ สะท้อนชีวิตผู้ถูกกฎขี่ นอกจากจะตราตรึงในหัวใจคนพลัดถิ่น เพลงเร็กเก้เพื่อการปฏิวัติของเขายังครองใจคนขาวจนทำให้ตารางทัวร์ยุโรปและอเมริกาเหนือแน่นขนัด และหลายๆ ที่ก็เต็มไปด้วยหนุ่มสาวผมทอง ตาสีฟ้า ที่เข้ามาฟังท่วงทำนองแห่งผู้ทุกข์เข็ญ
แต่ Bob ยืนยันหนักแน่นว่า สิ่งที่เขาทำคือต่อต้านความอยุติธรรม ไม่ใช่เกลียดชังคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังบทสัมภาษณ์ที่เขาเคยให้ไว้กับสื่อ
“หากคุณคิดว่าคุณโชคร้ายที่เกิดมาเป็นคนดำ นั่นคุณกำลังคิดผิด และหากคุณคิดว่าคุณโชคร้ายที่เกิดมาเป็นคนขาว คุณก็ผิดอีก แท้จริงแล้วผิวดำผิวขาวคือความเป็นสากล คุณว่าดนตรีของผมต่อต้านผิวขาวแน่เหรอ ผมพูดได้ว่าดนตรีของผมต่อต้านระบบต่างหาก”
ดนตรีของ Bob Marley สร้างสุขให้คนจาไมก้า, จุดประกายสร้างชาติซิมบับเว และเป็นเพื่อนกับคนอาฟริกันพลัดถิ่นจากทั่วโลก เสียดายที่โรคมะเร็งคร่าชีวิตเขาไปด้วยวัยเพียง 36 ปีเท่านั้น เหลือทิ้งไว้แต่ผลงาน 12 อัลบั้ม กับบทเพลงที่เป็นอมตะ
ศาสดาขบถเรียกร้องผ่านดนตรีของเขา หวังปลุกไฟในตัวคนฟังให้ลุกโชนเสมอ แม้ว่าเขาจากไปแล้ว
“ลุกขึ้น หยัดยืนขึ้น จงยืนหยัดเพื่อสิทธิของท่าน ลุกขึ้น หยัดยืนขึ้น จงอย่าล้มเลิกการต่อสู้”