ในแต่ละเดือนมีคนเล่น Facebook มากถึง 2 พันล้านคน และ Facebook เป็นสื่อโซเชียลที่มีคนใช้มากที่สุดในโลกเหนือกว่า Youtube (1.5 พันล้านคน) และ Instagram (700 ล้านคน) นับตั้งแต่ Facebook เปิดฟังก์ชั่น Page ในปี 2009 นักทำคอนเทนต์พากันไปเปิดเพจกันยกใหญ่ เช่นเดียวกับฟังก์ชั่น Group ที่ทำหน้าที่แทนเว็บบอร์ดสาธารณะ ทั้งสองฟังก์ชั่นนี้สร้างสรรค์คมอุดมการณ์แบ่งปันขึ้นมา ในปี 2012 มีการเก็บสถิติไว้ว่า ผู้ใช้ทั่วโลกแชร์คอนเทนต์ 4.75 พันล้านครั้งต่อวัน
ไม่แปลกเลยว่าในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ซีอีโอ Mark Zuckerberg ออกแถลงการณ์ว่าเป้าหมายของ Facebook คือ “ทำให้คนเห็นภาพรวมของโลกที่กว้างใหญ่ขึ้น” และบอกว่า Facebook จะเป็นชุมชนออนไลน์ที่:
1. ช่วยเหลือกันและกัน (Supportive)
2. ปลอดภัย (Safe)
3. เปิดโอกาสให้คนได้พูดและรับรู้ข้อมูลต่างๆ อย่างไม่ปิดกั้น (Informed)
4. สังคมที่ทุกคนอยากมีส่วนร่วม (Civically Engaged)
และ 5. สังคมที่เป็นมิตรกับทุกๆ คนอย่างเท่าเทียม (Inclusive)
แต่ Mark Zuckerberg ทำอย่างที่พูดจริงๆ หรือ? เกรงว่าจะไม่น่ะสิ
เพราะระบบการทำงานของ Facebook ไม่ได้ส่งเสริมการแบ่งปันไอเดียใหม่ๆ แต่อย่างใด อย่างเช่นในปีที่ผ่านมาก็เพิ่งลดจำนวนการเข้าถึง (Reach) ของแต่ละเพจลงให้เหลือ 3% จาก 16% ในปี 2012 และเพิ่มการเข้าถึงของโพสต์ของเพื่อนฝูงมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าคนที่รวมกลุ่มกันเป็นเพื่อน ก็มักจะเป็นคนที่ชอบหรือมีแนวคิดอะไรใดๆ คล้ายๆกัน แล้วเราจะคาดหวังสิ่งแปลกใหม่ที่แชร์ๆ กันในฟีดที่เต็มไปด้วยคนที่คิดแบบเดียวกับเราได้อย่างไร?
ยังไม่พอ Facebook ยังมีอัลกอริทึมเอาไว้คัดกรองข้อมูล โดยดูจากการมีส่วนร่วม (engagement) กับคน, เพจ หรือกรุ๊ปใดๆ ของเราอีกด้วย นั่นหมายถึงยิ่งเราชอบอะไร เรายิ่งเข้าไปไลค์ ไปคอมเมนต์ ไปแชร์มากขึ้น Facebook ก็จะป้อนสิ่งนั้นให้เรามากขึ้น หรือจะไม่ต้องง้ออัลกอริทึม ผู้ใช้สามารถเลือก Show Less หรือ Unfollow ด้วยตัวเองก็ได้ จน Facebook ไม่ต่างอะไรกับสังคมอุดมคติของผู้ใช้ ที่มีแต่คนที่ชอบ เพจที่ชอบ กรุ๊ปที่ชอบ คอนเทนต์ที่ชอบ
การมีสื่อมอบอิสระเสรีให้เราสร้างชุมชนตามใจฉัน ที่ไม่ได้แค่เลือกรับ แต่ยังเปิดโอกาสให้เราได้สร้างคอนเทนต์ของเราออกไป เพื่อดึงคนที่สนใจสิ่งเดียวกันเข้ามา เป็นแนวคิดที่ดีมาก และทำให้เราได้เจออะไรใหม่ๆ ที่อยากเจอ สร้างความสุขให้กับผู้ใช้ สังคมสงบสุข
หลายคนมองว่าความสุขแบบนี้เป็นความสุขปลอมๆ ที่โดนกลยุทธทางการตลาดของ Facebook หลอกให้คนแฮปปี้เพื่อให้ผู้ใช้เปิดเผยข้อมูลตัวเองออกมาทางวอลล์เยอะๆ และไลค์เพจ ไลค์โพสต์ต่างๆ ต่อเนื่อง จะได้เอาข้อมูลพวกนี้ไปขายให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ เพื่อที่พวกเขาจะหาทางขายของที่ตรงกับใจผู้บริโภคอย่างเราๆ ทำกำไรกันไป
เรื่องที่น่าคิดคืออิสระแบบนี้ ทำให้ผู้ใช้ Facebook มีโลกใบเล็กๆ ของตัวเอง ที่ user เองกลับรู้สึกว่ามันกว้างใหญ่ราวกับจักรวาลทั้งใบ
เว็บไซต์ technologyreview.com ของ Massachusetts Institute of Technology มองว่า Facebook กำลังสร้างโลกที่คนสุดโต่งทางความคิด และอยู่กันแบบพวกใครพวกมันมากขึ้น ที่ผู้เขียนมาองว่าระบบคัดกรองข้อมูลของ Facebook ทำให้คน “เขลา” หรือ Ignorant ต่อความจริงมากกว่าเดิม และมันย้อนแย้งสุดๆ ที่ Facebook แหล่งรวมคอนเทนต์มากมาย กลับทำให้คนไม่ได้เรียนรู้มากขึ้นเลย
ไม่น่าแปลกใจเลยที่คำว่า Post-Truth ซึ่งหมายถึง “ความจริงไม่สำคัญหรือไม่มีความหมายเท่าอารมณ์รับรู้” จึงกลายเป็นศัพท์แห่งปีของ Oxford Dictionary
“การแห่กันแชร์ คลิก และกดไลก์เฉพาะเนื้อหาที่ “ตรงใจ” ตัวเอง รู้สึก “อุ่นใจ” ว่ามีคนอื่นไลก์และแชร์ตั้งเยอะแยะ มีส่วนทำให้เรายิ่งปักใจเชื่อว่าความคิดความเชื่อของเรานั้น “ถูกต้อง” แล้ว โดยไม่ระแคะระคายว่าตัวเองกำลังปิดกั้นมุมมองที่แตกต่าง และทำให้ความคิดตัวเองของคับแคบขึ้นเรื่อยๆ เพราะคุยแต่กับคนที่คิดเหมือนกัน”
นี่คือความเห็นของสฤณี อาชวานันทกุล คณะบรรณาธิการของ Thaipublica สำนักข่าวออนไลน์ และนั่นทำให้เกิดคำถามว่า “เราจะออกจากโลกใบเล็กๆ ของตัวเองได้อย่างไรล่ะ?”
หลายบริษัทได้สร้าง Social Media ของตัวเองเป็นสื่อทางเลือก เช่น Minds.com ที่โฆษณาว่าจะรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ยิ่งชีพ หรือ Dispora.com ที่บอกว่าเราจะไม่ไปยุ่มย่ามกับการเข้าถึงข้อมูลของ user หรือ Parlio.com ที่เป็นสื่อโชเซียลในรูปแบบเว็บบอร์ดออนไลน์ ก็มีพร้อมกับแนวคิดว่าให้คนพูดคุยเรื่องต่างๆ อย่าง “มีความคิดลึกซึ้ง, มีเสรีภาพ และเคารพความแตกต่างหลากหลาย” (สนใจอันไหนก็ลองสมัครดูได้เน้อ)
แต่จะให้เลิกใช้ Facebook และไปเล่นโซเชียลอื่นๆ ก็คงจะหักดิบกันเกินไป (ในนั้นมันมีทั้งความทรงจำของเพื่อนสมัยประถม ช่องทางการติดต่อญาติพี่น้องในต่างแดน และคอนเนคชั่นเรื่องงานเลยนี่นา) เรามองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการรู้ว่าทุกอย่างที่อยู่ในฟีดของเราเป็นเพียงปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น และสิ่งที่เราเห็นว่ามีคนไลค์หลักร้อย หลักพัน มันอาจจะเป็นเพราะความถูกใจ ไม่ได้แปลว่ามันคือความจริงหรือถูกต้องเสมอไป
และลองออกจากคอมฟอร์ตโซนตัวเองไปรับสื่ออื่นๆ บ้าง หรือลองพูดคุยกับคนหลากหลายในโลกจริงก็จะช่วยให้เราเห็น “ภาพรวมของโลกที่กว้างใหญ่ขึ้น” ได้นะ