ต๋อง 2 หายไปไหน ทำไมเมืองไทยถึงไม่มีนักสนุกเกอร์ระดับ James Wattana ได้อีกเลย


วินาทีที่ไทย ทอร์นาโด หรือต๋อง ศิษย์ฉ่อย หรือ James Wattana ที่คนทั่วโลกรู้จัก ตบลูกชมพูลงในเฟรมที่ 16 เก็บไม้เดียว 76 แต้มชนะ “เทพบุตรคิวทอง” สตีฟ เดวิส 53 ไปอย่างสุดมันส์ 9-7 เฟรม คว้าแชมป์ไทยแลนด์ โอเพ่น 1994 ได้สำเร็จ ทำให้ต๋องกลายเป็นไอดอลของคนทั้งประเทศ

หลังจากนั้นไม่นาน ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ก็ก้าวขึ้นมาเป็นมือวางอันดับสามของโลก

Photo: tilleysvintagemagazinessheffield.com

กิจการโต๊ะสนุกเกอร์ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีเด็กไทยจำนวนมากมายหันมาเล่นสนุกเกอร์ ด้วยความฝันที่จะเป็น “ต๋อง 2” เราต่างฝันถึงนักสนุกเกอร์จากเอเชียคนแรกที่เป็นเบอร์หนึ่งโลก และแชมป์โลกชาวไทย

ถึงอย่างนั้น หลังจากป้องกันแชมป์ไทยแลนด์ โอเพ่น 1995 ได้สำเร็จ ก็ต้องรอถึง 24 ปีกว่า เอฟ นครนายก หรือเทพไชยา อุ่นหนู จะคว้าแชมป์รายการ Shootout ได้ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นนักสอยคิวคนที่สองของไทยที่คว้าแชมป์รายการสะสมคะแนนโลกได้สำเร็จ

ปัจจุบันมีนักสนุกเกอร์ไทยได้เข้าแข่งขันรายการสะสมคะแนนโลกอยู่ 4 คน ซึ่งก็คือ ต๋อง ศิษฉ่อย (รัชพล ภู่โอบอ้อม), เอฟ นครนายก (เทพไชยา อุ่นหนู), ซันนี่ สายล่อฟ้า (อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์) และหมู ปากน้ำ (นพพล แสงคำ) โดยนอกจากต๋องแล้ว ยังไม่เคยมีนักสอยคิวจากไทยคนไหน ได้อันดับโลกเลขตัวเดียวอีกเลย

Photo: worldsnooker.com

นั่นเทียบไม่ได้เลยกับนักกีฬาของจีน ที่นับตั้งแต่ ดิงจุนฮุย คว้าแชมป์ไชน่า โอเพ่น และยูเค แชมเปี้ยนชิป ด้วยการล้มนักสนุกเกอร์ระดับตำนานอย่าง สตีเฟน เฮนดรี้ และ สตีฟ เดวิส ได้ในปี 2005 ปัจจุบันมีนักสนุกเกอร์จากประเทศจีน (รวมฮ่องกง) อยู่ในทัวร์ถึง 25 คน ส่วนดิงเองก็เคยก้าวขึ้นไปถึงอันดับ 1 ของโลกในปี 2014 และยังคงรักษาอันดับท็อป 10 ของโลกได้จนถึงปัจจุบัน จนตอนนี้ประเทศจีนเป็นหมายเลขหนึ่งของเอเชียในกีฬาสนุกเกอร์ และมีโอกาสจะเป็นอันดับหนึ่งของโลกในอีกไม่นานนี้

อะไรที่ทำให้นักสนุกเกอร์ไทยที่เคยก้าวไปเป็นระดับโลกชาติแรกของเอเชีย และก้าวนำจีนไปก่อนนับสิบปี ถึงหยุดการพัฒนาเสียดื้อๆ แล้วต๋อง 2 หายไปไหนล่ะ?

ขาดสปอนเซอร์เหมือนขาดใจ

สนุกเกอร์ต่างจากกีฬาประเภททีมอย่างฟุตบอล บาสเกตบอล หรือกีฬาน้องใหม่อย่างอีสปอร์ต ที่พอได้สัญญาในการเล่นอาชีพปุ๊บ จะมีรายได้แน่นอน มีเบี้ยเลี้ยงซ้อมให้ กินข้าวฟรีโรงอาหารของสโมสร และบางทีสโมสรจะหาบ้านพักใกล้สนามซ้อมให้อยู่อีกด้วย เช่นเดียวกับตอนแข่งสโมสรก็จะเดินเรื่องหาไฟลท์บิน หาโรงแรมให้ ทั้งหมดนี้นักกีฬาไม่ต้องจ่ายเงินสักบาท ไม่ว่าจะได้ลงแข่งเป็นตัวจริงหรือไม่ได้ลงสนามเลยก็ตาม

แต่สนุกเกอร์เป็นกีฬาประเภทบุคคล ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเช่าโต๊ะสนุกเกอร์ตามคลับเพื่อไปซ้อม ค่าสมัครแข่ง ค่าเดินทางไปแข่ง ค่าโรงแรมที่พักระหว่างทัวร์นาเมนต์ ทั้งหมดนักกีฬาต้องจ่ายเอง และถ้านักสอยคิวคนนั้นตกรอบคัดเลือกของการแข่งขันรายการต่างๆ (รอบ 128 คน) เขาจะไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว แต่ต้องเสียเงินค่าเดินทางไป-กลับด้วยตัวเอง เท่ากับว่าถ้าแพ้รอบ 128 คน ไม่ได้แค่กลับบ้านมือเปล่า แต่เงินติดลบ

นักกีฬาไทยมีต้นทุนต่อเดือนในการใช้ชีวิตที่อังกฤษ ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่ารถ ค่าเช่าโต๊ะสนุกเกอร์เอาไว้ซ้อม ประมาณ 2 แสนบาท มากกว่าเมืองไทยเกือบ 20 เท่าได้ ถ้าไม่มีเงินจากผู้สนับสนุน แหล่งรายได้ของนักกีฬาก็จะเหลือทางเดียวคือ “แข่งให้ชนะ” เท่านั้น นั่นคือความกดดันมหาศาล ไม่นับรวมกับการที่จะต้องปรับตัวกับสภาพอากาศ อาหารการกิน ภาษาอังกฤษ และภาษีเงินได้อัตรามหาโหด

นักกีฬาที่เล่นไปกดดันไป ห่วงหน้าพะวงหลัง จบเดือนนี้จะมีกินหรือไม่ โอกาสทำผลงานได้ดีก็คงยาก อย่างที่เทพไชยา อุ่นหนูเคยกล่าวเอาไว้  

“ตั้งแต่ผมหมดสัญญากับสปอนเซอร์หลัก แสงโสม ผลงานผมก็ค่อยๆร่วงลงๆ เพราะส่วนนึงมาจากที่ผมไม่มีเงินคอยสนับสนุนปีละ 1.5 ล้านบาท การแข่งแต่ละแมตช์ก็ทำให้ผมยิ่งกดดันมากขึ้นไปอีก ยิ่งวันไหนที่แพ้เฟรมตัดสิน ผมนี่ปวดร้าวมาก แอบไปร้องไห้ในห้องน้ำบ้าง เพราะไม่อยากให้ ครอบครัวผมหรือใครรู้”

Photo: Facebook Page Tong Snooker Club

เช่นเดียวกับ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ที่โชคดีมากที่ช่วงเล่นอาชีพแรกๆ ได้สปอนเซอร์จากเนสกาแฟ (ที่หลายคนคงจำภาพต๋องเป็นพรีเซนเตอร์ได้) ในช่วงปี 1990-1994 ซึ่งเป็นช่วงที่ต๋องท็อปฟอร์มพอดี แต่พอหลังจากนั้นเมื่อหมดสัญญาสปอนเซอร์ ประกอบกับต๋องที่มีปัญหาทางสายตาเป็นต้อกระจก ผลงานของไทย ทอร์นาโด ก็ดร็อปลงจนหลุดจากท็อป 64 คนในที่สุด

นอกจากนี้ การขาดเงินสนับสนุน ทำให้นักสอยคิวชาวไทยหลายคน ต้องยอมทิ้งฝันกลางทาง เช่น นุ้ก สากล หรือ กฤษณัส เลิศสัตยาทร อดีตแชมป์เอเชียปี 2559 และไฟว์ นครนายก หรือ บุญญฤทธิ์ เกียรติกุล ที่ถอนตัวจากการเมนทัวร์กลับมาเล่นในเมืองไทยเพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหวอีกด้วย

ไม่แปลกที่ว่าการแข่งขัน Q School หรือทัวร์นาเมนต์สมัครเล่นที่จัดขึ้นปีละ 3 รอบในเดือนพฤษภาคม เพื่อคัดนักสนุกเกอร์สมัครเล่น 12 ไปแข่งในระดับอาชีพ ปีนี้จะไม่มีนักสอยคิวจากประเทศไทยบินไปแข่งเลย มีเพียงแค่น้องควิด-มนัสวินษ์ เพชรมาลัยกุล  ที่เกิดและอาศัยอยู่ที่อังกฤษอยู่ เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวจากแดนสยามในปีนี้

ขาดการสนับสนุนระยะยาวจากรัฐและสมาคม

ถ้าจะสร้างทักษะอะไรให้กับนักกีฬา ควรสร้างตั้งแต่เด็ก ในขณะที่กีฬาประเภทบุคคลอื่นๆ อย่าง แบดมินตัน, ว่ายน้ำ, วิ่ง และเทนนิส มีการแข่งขันระดับเยาวชนและระดับโรงเรียน ที่รับรองโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย แต่การแข่งขันสนุกเกอร์ระดับเยาวชนที่จัดยังมีน้อยมาก ทำให้เสียโอกาส ในการเฟ้นหานักกีฬาเก่งๆ และนักกีฬาก็ขาดเวทีประลองฝีมือเพื่อพัฒนาตนเอง

นั่นรวมไปถึงการสร้างอะคาเดมีที่ทันสมัย การจัดรายการแข่งขันเยาวชนและระดับอาชีพอย่างต่อเนื่อง และเงินสนับสนุนให้นักกีฬาไทยออกไปเล่นอาชีพต่างแดนได้อย่างไร้กังวล

ต๋อง ศิษย์ฉ่อย โชคดีที่มีเซียนสนุ๊กฯ อย่าง บัติ หัวตะเข้ ที่เห็นแวว พาต๋องเดินสายไปบู๊กับยอดเซียนทั่วฟ้าเมืองไทยตั้งแต่วัยละอ่อน เช่นเดียวกับคุณพลอยรุ้ง คุณแม่ของต๋องที่แทบจะขายทรัพย์สินทุกอย่างที่มีส่งไปเป็นทุนให้ต๋องไปอยู่อังกฤษตั้งแต่อายุ 15 ทั้งไปเล่นสนุกเกอร์และไปเรียนภาษาที่นั่น ทำให้ต๋องพัฒนาตัวเองไปได้ไกล

Photo: Facebook Page Cuesport Thailand

ในปีนี้ประเทศไทย มี ‘ศูนย์ฝึกสอนและพัฒนากีฬาสนุกเกอร์ จ.จันทบุรี’ ที่ได้ผลักดันให้เกิดการเรียนการสอนสนุกเกอร์ในหลักสูตรมัธยมเป็นวิชาเลือกเสรีเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนเบญจมานุสรณ์ จังหวัดจันทบุรี ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์มาตรฐาน และโค้ชที่ผ่านการอบรม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ ที่มีการพัฒนาสนุกเกอร์อย่างเป็นระบบจากรากฐาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสมาคมสนุ๊กเกอร์ของจีนแล้วยังถือว่าห่างจนเกินเปรียบ

สมาคมสนุกเกอร์จีนได้จับมือกับสมาคมสนุกเกอร์โลกหรือ WBPSA สร้างศูนย์ฝึกเพื่อความเป็นเลิศ ที่กรุงปักกิ่ง ตั้งแต่ปี 2013 มีการนำโค้ชต่างชาติมาสอน ใช้ซอฟท์แวร์มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเล็ง การทุ่มเทนี้ทำให้นักกีฬาจีนสามารถเข้าไปเล่นในระดับโลกได้อย่างก้าวกระโดด

Photo: ebsa.tv

เมื่อนักกีฬาจากจีนได้เทิร์นโปร รัฐบาลจะติดต่อบริษัทเอกชนต่างๆ ช่วยหาสปอนเซอร์ให้ เพื่อพวกเขาจะทำผลงานได้โดยไม่ต้องกังวล

เช่นเดียวกับการลงทุนเมกะโปรเจคต์พัฒนาเมืองหยู่ฉวน ในมณฑลเจียงซี ให้เป็น “เมืองหลวงแห่งวงการคิวสปอร์ตโลก” ทั้งการสร้างสนามแข่งสนุกเกอร์ ที่โอ่โถงระดับครูซิเบิ้ล เธียเตอร์ รวมถึงการสร้างศูนย์ฝึกเพื่อความเป็นเลิศ และปรับภูมิทัศน์เมืองให้อยู่ในธีมสนุกเกอร์ เช่น พัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ในชื่อ Snooker Bay หรืออ่าวสนุกเกอร์

Photo: ebsa.tv

การเติบโตที่พุ่งทะยานอย่างรวดเร็วของสนุกเกอร์ในประเทศจีน ทำให้แบร์รี่ เฮิร์น ประธานของ World Snooker ออกปากชมว่า “ภายใน 10-15 ปีข้างหน้า จีนจะเป็นเจ้าแห่งกีฬาโลก เมื่อดูจากเม็ดเงินที่รัฐบาลทุ่มลงไป”

รัฐบาลต้องเร่งสปีดทั้งเม็ดเงิน และแผนยุทธศาสตร์โดยด่วน ก่อนที่จีนจะทิ้งห่างเราไปมากกว่านี้

พรบ. การพนันผู้ดับฝันเด็กรุ่นใหม่

นอกจากจะหาศูนย์ฝึกเยาวชนได้ยากเย็นแล้ว อีกอุปสรรคหนึ่งที่ขวางกั้นไม่ให้เกิดต๋อง 2 ได้ง่ายๆ คือ “กฎหมาย” ที่เรียกว่า พรบ.การพนันฉบับ ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2478 ที่กำหนดว่า “สนุกเกอร์และบิลเลียด” ถือเป็นการพนันประเภท 2 ที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 เข้าโต๊ะสนุกเกอร์

กฎหมายนั้นก็สอดคล้องกันดีกับภาพจำในสังคมไทย ที่มองโต๊ะสนุกเกอร์เป็นแหล่งมั่วสุม เด็กหนีเรียนเข้าไปสูบบุหรี่ กินเหล้า เล่นเดิมพัน และชกต่อยกันเมื่อแพ้พนัน หรือไม่ก็ผู้ชายวัยทำงานหนีแฟนมาขลุกอยู่กับมาร์คกี้ ทั้งคืนไม่ยอมกลับบ้านไปดูแลลูกเมีย

Photo: skysport.com

แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบันสนุกเกอร์คือหนึ่งในกีฬาสากลที่ทั่วโลกยอมรับ ได้รับการแข่งขันในซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และกำลังจะเข้าโอลิมปิกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

คลับสนุกเกอร์ในประเทศไทยต่างๆ  ก็ล้วนปรับปรุงตัวเองให้ทันสมัย ห้องโอ่โถง ดูสะอาดสะอ้าน แยกโซนสูบบุหรี่กับโซนไม่สูบบุหรี่ออกจากกันชัดเจน มีพนักงานคอยตรวจตราความเรียบร้อย การจัดอีเวนท์เชิญนักสนุกเกอร์ทีมชาติ และนักสนุกเกอร์ระดับโลกมาแข่งแมตช์กระชับมิตร หรือมาสอนเทคนิคต่างๆ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อยกระดับสนุกเกอร์ให้หลุดพ้นจากการเป็นแหล่งมั่วสุมและการพนัน

กฎหมายที่อยู่มา 84 ปี โดยไม่ถูกแก้ไข ตัดโอกาสเยาวชนไม่ให้จับไม้คิวตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยการแปะป้ายว่ามันเป็น “การพนัน” ผิดกับจีนแผ่นดินใหญ่  ที่สนุกเกอร์ได้รับการยกย่องว่าเป็น “หนึ่งในสามกีฬาสุภาพชน” ร่วมกับกอล์ฟและเทนนิส และความสำเร็จของดิงจุนฮุย ที่เคยก้าวไปถึงรองแชมป์โลกในปี 2016 จุดประกายความหวังว่าคนจีนจะเป็นแชมป์โลกได้สักวันหนึ่ง ทำให้ผู้ปกครองหนุนลูกหลานตัวเองเป็นโปรสอยคิวอย่างเต็มที่

Photo: scmp.com

เยาวชนจีนสามารถซ้อมสนุกเกอร์ได้อย่างต่อเนื่อง หลังเลิกเรียนและวันหยุด ไม่ต่างจากการไปคอร์ทแบดมินตันหรือสระว่ายน้ำ ส่งผลให้จีนมีนักกีฬาสนุกเกอร์หน้าใหม่ๆ หลายพันคน และมีเยาวชนถึง 400-500 คนที่พร้อมเป็น “ดิงจุนฮุยคนต่อไป” ได้ทุกเมื่อ ไม่แปลกที่ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ออกมาตัดพ้อว่า

“ประเทศจีนมีคนรุ่นใหม่ประมาณ 4-5 ร้อยคนรอเทิร์นโปรเพราะวิธีคิดเขามองเป็นกีฬา แต่เราไม่ใช่ รัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลือ แต่อยากได้ฮีโร่ อยากกินข้าวกับฮีโร่ แต่ไม่มีการสนับสนุน ไม่มีแนวทางชัดเจนและเดินไปอย่างมั่นคง”

“เมื่อไหร่ บ้านเราจะเปิดเสรีเรื่องนี้ ให้เด็กสามารถเข้าไปเล่นได้ ทำไมไม่มองว่า สนุ๊กเกอร์ ก็เป็นกีฬาอีกประเภทนึง ผู้ใหญ่บ้านเราอยากให้มี ต๋อง 2 ต๋อง 3 ต๋อง 4 ถ้าส่วนตัวผมเหรอ? ผมต้องการต๋องสัก 100 คน สนุ๊กฯ บ้านเราจะได้ไปสร้างชื่อเสียงระดับโลก”

สปอนเซอร์จากเอกชน โครงการพัฒนาระยาวจากรัฐบาล และการแก้กฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงสนุกเกอร์ได้มากขึ้น ลบภาพแหล่งมั่วสุ่มที่สังคมเคยเข้าใจ คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ ต๋อง 2 กลายเป็นจริง และเหมือนที่ใครหลายๆ คนเคยฝันว่าจะมีคนไทยก้าวขึ้นไปเป็นมือหนึ่งของโลก หรือเป็นแชมป์โลก เหมือนอย่าง 20 ปีก่อน


แหล่งข้อมูล

https://www.bbc.com/sport/snooker/36096472

http://www.chinadaily.com.cn/cndy/2018-09/15/content_36918744.htm

https://www.posttoday.com/politic/report/515029

https://news.thaipbs.or.th/content/177589

https://www.sanook.com/sport/861793/