วิทยาศาสตร์แห่งซ้ายทะลวงไส้ ทำไมซ้ายตัดลำตัวถึงเป็นหมัดที่ “อันตราย” ที่สุด


วินาทีที่เขาทราย แกแล็กซี่ ส่งหมัดซ้ายไปที่ลำตัวของดอง ฮุนลี นักมวยจากเกาหลีใต้ ลงไปนอน ก่อนจะหงายแน่นิ่งไม่ไหวติงให้กรรมการนับสิบ ชนะน็อคไปในยกที่ 7 และป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกของสมาคม WBA ได้สำเร็จ ช็อตนี้ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ฉายา “ซ้ายทะลวงไส้” กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของนักชกจากเพชรบูรณ์ไปทันที

Photo : thairath.co.th

ไม่ใช่แค่เขาทรายเท่านั้น หมัดซ้ายตัดลำตัวด้านขวาที่ดูเหมือนจะเป็นแค่การเหวี่ยงหมัดธรรมดา กลับส่งคู่ต่อสู้ลงไปนอนตัวงอทันทีที่หมัดสัมผัสกับร่างกาย หมัดแบบนี้เป็นอาวุธร้ายของนักมวยดังมาทุกยุคสมัยทั้ง โรเบอร์โต ดูรัน, แฟรงค์ บรูโน, “ไอริช” มิคกี้ วอร์ด (ที่หลายคนอาจจำเขาได้จากหนังชีวประวัติ The Fighter), เบอร์นาด ฮอปกิน, ริคกี้ แฮตตัน ฯลฯ

คนที่ดูมวยหลายๆ คนอาจสงสัยว่าจุดตายของนักมวยอยู่ที่ใบหน้า เพราะเป็นส่วนที่เปราะบาง สร้างกล้ามเนื้อได้ยาก แถมอยู่ใกล้กับสมอง ขณะที่นักมวยนั้นเล่นกล้ามท้องจนเห็นซิคส์แพ็คขึ้นเด่นชัด น่าจะทนต่อการต่อยลำตัวมากกว่า? บางคนถึงกับตามไปด่านักมวยที่แพ้น็อคเพราะโดนหมัดซ้ายตัดลำตัวว่า “อ่อนซ้อม” บ้าง “จิตใจอ่อนแอ” บ้าง หรือโทษไปว่า “ล้มมวย” เสียด้วยซ้ำ

แต่วิทยาศาสตร์พิสูจน์มาแล้วว่า การโดนฮุคซ้ายที่ “ชายโครง” นั้นสร้างความเจ็บปวดได้รุนแรงกว่าการถูกตะบันหน้าเสียอีก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ?

Photo: scifighting.com

Liver Shot หมัดระเบิดตับ

ด้านล่างของซี่โครง เป็นที่ตั้งของอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายมนุษย์ และหนักที่สุดอีกด้วย (ประมาณ 1.5 กิโลกรัม) มันคือ “ตับ” นี่เอง ตับตั้งอยู่ที่ริมขวาสุดของลำตัว ใต้ปอดและกระบังลม เหนือลำไส้กับถุงน้ำดี ตับของคนที่โตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่จนล้นซี่โครงส่วนใต้ของซี่โครงออกมา และอยู่ตรงขอบขวาสุดของลำตัวพอดี ไม่มีกล้ามเนื้อใดๆ มาป้องกัน นั่นทำให้ส่วนนั้นของร่างกายเป็น “จุดตาย” ของมนุษย์

ภายในตับประกอบไปด้วยเส้นประสาทจำนวนมาก ที่เชื่อมต่อกับระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system) ระบบประสาทอัตโนมัติทำหน้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ, การขยายตัวของม่านตา หลอดลม และหลอดเลือด, ระบบทางเดินอาหาร, ความดันโลหิต, ต่อมเหงื่อ, อุณหภูมิในร่างกาย, กระเพาะปัสสาวะ และมดลูก อวัยวะดังยังกล่าวทำหน้าที่สำคัญต่อร่างกาย ทั้งเปลี่ยนอาหารที่ย่อยแล้วให้เป็นสารอาหารบำรุงอวัยวะต่างๆ สะสมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย และขับของเสียงออกมาทางน้ำดี

และนี่เองที่ทำให้ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญ ถ้ามันหยุดทำงาน เราก็จะเสียชีวิต ไม่ต่างจากหัวใจหยุดเต้น

Photo : breakingmuscle.com

เนื่องจากตับอยู่ที่จุดที่เปราะบางอยู่แล้ว การสาวหมัดไปที่ตับ หรือ liver shot นั้นไม่จำเป็นต้องฮุคซ้ายด้วยความรุนแรง สิ่งสำคัญคือความเร็ว และการเข้าประชิดตัวคู่ต่อสู้ เพื่อให้สาวหมัดไปได้ตรงจุดอย่างว่องไว ดังนั้นหมัดทะลวงตับที่เราเห็นส่วนใหญ่ จะมาจากจังหวะทีเผลอ ฉวยโอกาสตอนที่คู่ต่อสู้ไม่ทันระวัง พอรู้ตัวอีกทีก็ลงไปนอนแพ้ TKO ไปแล้ว

ตับมีเนื้อเยื่อที่ยืดหยุ่น เหมือนผิวของลูกโป่ง เวลาที่มีกำปั้นพุ่งเข้ากระแทกตับด้วยความเร็วสูง ด้านของตับที่โดนต่อยจะหดตัว ในขณะที่ด้านที่ไม่โดนต่อยจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว และส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทอัตโนมัติ มันจะไปกระตุ้นการทำงานของประสาทเวกัสที่ตรงบริเวณต้นคอ ทำให้หลอดเลือดขยายตัวขึ้น ขณะเดียวกันแรงกระแทกนั้นก็ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ส่งผลให้มีแรงดันโลหิตไม่มากพอที่จะรองรับหลอดเลือดที่ขยายตัว

Photo: vaaju.com

นักมวยที่โดนต่อยที่ตับจึงเกิดอาการจุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกโดยฉับพลัน สัญชาติญาณของมนุษย์จะสั่งให้ร่างกายทิ้งตัวนอนลง เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่รายงานว่า น้ำหนักหมัดของคนทั่วไป ที่มีความเร็วประมาณ 5 เมตรต่อวินาที ถ้าต่อยลงไปที่ชายโครงที่ตับอยู่ ก็มากพอที่จะเป็นอันตรายต่อตับได้แล้ว ไม่แปลกที่หมัดของนักมวยที่หนักกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า จะทำให้ตับฉีกขาด มีเลือดออก สร้างความเจ็บปวดมหาศาลได้ภายในชั่วพริบตา

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้นักสู้ที่ไม่ว่าร่างกายบึกบึนเพียงใด “ร่วง” ลงไปนับสิบได้ฉับพลัน เพียงแค่ถูก liver shot หมัดเดียว ซึ่งต่างจากการต่อยใบหน้า ที่ต้องต่อยเป็นหมัดคอมโบกว่าจะน็อคคู่ต่อสู้ได้ เพราะการกระแทกที่ศีรษะ ปฏิกริยาแรกของสมองคือมึนงง ไม่ได้สร้างความเจ็บปวดได้ในทันที นักมวยที่โดนหมัดจึงพอยืนระยะต่อได้ จนกว่าโดนรัวเป็นชุดเข้าไปถึงจะร่วง

“หมัดที่โดนนั้น โดนอย่างจัง จุกเสียดไปหมด ทนไม่ไหวจริงๆ”

กล่าวโดยผึ้งหลวง ส.สิงห์อยู่ นักมวยชาวไทยอดีตแชมป์แบนตัมเวทของ WBO ก็เคยพลาดท่าแพ้การชิงแชมป์โลกสมัยที่สองของตัวเองด้วยหมัดทะลวงตับมาแล้ว จากโทโมกิ คาเมดะ เจ้าของเข็มขัดแชมป์ชาวญี่ปุ่นกับ ในการชกที่ MGM Grand ลาส เวกัสในปี 2014

“เรามาพลาดเอง ทั้งที่น้ำหนักหมัดของ โทโมกิ คาเมดะ ก็ไม่หนักเท่าไหร่ เป็นจังหวะเดียวที่โดนเต็มๆ” 

จุดตายไม่ได้มีแค่ตับ ขั้วหัวใจก็ด้วย

นอกจากตับแล้ว จุดตายอีกจุดก็คือ “ขั้วหัวใจ” อย่างที่แหลม-ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่นได้ปล่อยหมัดตัดลำตัว เข้าขั้วหัวใจ ของโรมัน กอนซาเลซ ส่งอดีตแชมป์โลกรุ่นซูเปอร์ฟลายเวต ของสถาบัน WBC จากนิคารากัวลงไปนอนนับแปด ในยกที่หนึ่งของการปะทะกันครั้งแรกของทั้งคู่ ที่เมดิสัน สแควร์ การ์เดน ต่อหน้าแฟนมวยนับล้าน

หมัดตัดขั้วหัวใจ เกิดขึ้นจากการออกหมัดขวาตรง โดยที่ผู้ชกหมุนควงแขนไปด้วยเพื่อเพิ่มความรุนแรง ที่เรียกว่า corkscrew blow บริเวณอกด้านซ้ายของคู่ต่อสู้ แรงกระแทกของหมัดจะทำให้หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ และร่างกายจะสตันท์ มึนงง ขยับตัวไม่ได้ไปพักหนึ่ง เปิดโอกาสให้คู่ต่อสู้รัวหมัดชุดใส่ได้ หรือต่อให้ไม่น็อคในจังหวะนั้น ก็ตัดกำลังคู่ต่อสู้ไปได้มากอยู่ดี

Photo : ippo.fandom.com

ถึงอย่างนั้น หมัดตัดขั้วใจ เป็นหมัดที่คู่ต่อสู้คาดเดาและตั้งการ์ดรับได้ง่าย เช่นเดียวกับความเสี่ยงที่คู่ต่อสู้จะใช้ข้อศอกมาบล็อก ทำให้กระดูกข้อมือของนักมวยหักได้ หมัดนี้จึงไม่ค่อยถูกใช้เท่าไหร่ แต่ถ้าใครอ่านการ์ตูน “ก้าวแรกสู่สังเวียน” ก็คงจดจำตัวละคร เดตะ เอย์จิ ที่มีท่าไม้ตายเป็น “หมัดตัดขั้วหัวใจ” (หรือ heartbreak shot ที่เรียกกันในการ์ตูน) ได้อย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะเทรนร่างกายจนแข็งแรงและเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อขนาดไหน มนุษย์ก็ยังถูกสรรค์สร้างให้มีจุดอ่อน ราวกับธรรมชาติได้เลือกให้มนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบ และนั่นทำให้หมัด “ซ้ายทะลวงไส้” หรือ “ซ้ายทะลวงตับ” รวมถึงหมัดตัดขั้วหัวใจ ยังคงเป็นทีเด็ดของนักมวยในแต่ละยุคอยู่เสมอ

แหล่งอ้างอิง

https://www.youtube.com/watch?v=KVZbEE0nx70

http://www.komchadluek.net/news/sport/188170

https://www.livescience.com/44859-liver.html

https://ippo.fandom.com/wiki/Liver_blow

https://ippo.fandom.com/wiki/Heart_Break_Shot

https://www.siamsport.co.th/boxing/view/21886