เสียงปรบมือโห่ร้อง ยินดี ดังไปทั่วสนามไวท์ ฮาร์ทเลน รังเหย้าใหม่ ในชื่อเดิมของทีมท็อตแนมฮอตสเปอร์ ในวันเปิดสนามเมื่อ 30 มีนาคมที่ผ่านมา เมื่อเจ้าของตำนานหมายเลข 8 ถูกส่งลงสนามในฟุตบอลนัดพิเศษระหว่าง ตำนานสเปอร์ vs ตำนานอินเตอร์ มิลาน
รอยยิ้มบนใบหน้าจากอดีตเพลย์เมกเกอร์ทีมชาติอังกฤษวัย 51 ปี บ่งบอกได้ว่าเขามีความสุขแค่ไหน เขาวิ่งออกไปทักทายนักเตะรุ่นน้องอย่างอารมณ์ดี เขาปรบมือขอบคุณให้กับแฟนบอล 45,000 คนอย่างชื่นมื่น ที่เดินทางมาต้อนรับการกลับมาที่ “บ้าน” ของเขาอีกครั้ง หลังจากห่างหายไป 28 ปี
เพราะสำหรับ “พอล แกสคอยน์” ไม่มีที่ไหน เหมือนบ้านมากกว่าสนามฟุตบอล “ไวท์ฮาร์ทเลน” อีกแล้ว
เด็กหนุ่มจากเมืองนิวคาสเซิล โหยหาบ้านและครอบครัวที่อบอุ่นตั้งแต่จำความได้ แกสคอยน์เกิดมาในครอบครัวฐานะยากจน คุณแม่เป็นสาวโรงงาน ส่วนพ่อเป็นช่างก่ออิฐ ทั้งสองคนมีลูกด้วยกัน 4 คน พ่อแม่ของแกสคอยน์ไม่มีเงินแม้แต่จะเช่าบ้านของตัวเอง นั่นทำให้ทั้ง 6 ชีวิตต้องอยู่อย่างแออัดในห้องนอนห้องเดียวของบ้านญาติ ที่แบ่งมาให้ครอบครัวแกสคอยน์อยู่ และต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับเจ้าของบ้าน
ความเครียดจากงานกรรมกรที่รายได้ต่ำติดดิน และความกังวลตลอดเวลาว่าแต่ละเดือนจะมีเงินมากพอจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าอาหารให้ลูกๆ ทำให้พ่อและแม่ของแกสคอยน์มีเรื่องให้ทะเลาะกันรุนแรงเสมอ แถมยังเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อพ่อของแกสคอยน์มาป่วยเป็นโรคลมชัก มันส่งผลต่อการทำงาน และทำให้ครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้ว มีรายได้น้อยลงไป
นอกจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่น่าอภิรมย์ โลกภายในของแกสคอยน์ก็เปราะบาง เมื่อเขามีปัญหาสุขภาพจิต และต้องพบจิตแพทย์อยู่เรื่อยๆ
ตั้งแต่เด็ก ที่เขามีปมในใจจากเหตุการณ์ “ความตาย” ของคนใกล้ตัว เมื่อตอนอายุ 10 ขวบ สตีเฟ่น เพื่อนรักของเขาถูกรถชนต่อหน้าต่อตา หลังจากที่ออกไปวิ่งเล่นบนถนนโดยไม่ระวัง แกสคอยน์รู้สึกผิดอย่างฝังใจ ที่เขาดูแลเพื่อนได้ไม่ดีพอ
“นี่การเห็นศพครั้งแรกในชีวิต และผมโทษตัวเองตลอดเวลาว่าความตายของสตีเฟ่นคือความผิดของผม มันยังหลอกหลอนผมจนถึงทุกวันนี้ และแค่พูดถึงมัน ผมก็ร้องไห้ขึ้นมาทันที”
สิ่งเดียวที่เยียวยาจิตใจของเด็กชายพอล แกสคอยน์ได้ก็คือ “ฟุตบอล”
ทุกครั้งที่เท้าของแกสคอยน์สัมผัสบอล เขาลืมความยากจน ลืมความเจ็บปวด เหลือแค่ความสุขกับเป้าหมายตรงหน้า ที่เขาเลี้ยงบอล จ่ายบอล และทำประตูให้กับทีมโรงเรียนของเขาอย่างต่อเนื่อง ในหัวของเขาคิดอยู่อย่างเดียวว่า ถ้าเขาได้เล่นฟุตบอลอาชีพ พ่อแม่เขาจะสุขสบาย ความพยายามของแกสคอยน์ส่งผลเมื่อ เขาก็ได้รับสัญญาจากนิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ดในปี 1983 ในวัย 16 ปี
การเล่นฟุตบอลของพอล แกสคอยน์ไปได้สวย เขาเป็นตัวจริงของทีมสาลิกาดงอย่างต่อเนื่อง และได้รับรางวัลนักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยมของสมาคมฟุตบอลอังกฤษตอนอายุ 21 ปี พร้อมสมญานามในวงการว่า “แกซซ่า” ก้าวแรกแห่งความสำเร็จในวงการลูกหนัง ทำให้แกสคอยน์เป็นที่พึ่งของครอบครัว ค่าแรงและโบนัส คือเงินที่ค้ำจุนให้พ่อแม่และพี่น้องมีกินมีใช้
ฟอร์มอันโดดเด่นกับนิวคาสเซิ่ล สโมสรท็อตแนมฮอตสเปอร์ เข้ามาติดต่อซื้อตัวแกซซ่า พร้อมยื่นข้อเสนอที่แกสคอยน์ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะทางสโมสรจะซื้อบ้านใหม่ให้พ่อแม่ของแกซซ่าอยู่ฟรีๆ ถ้ายอมเซ็นสัญญาด้วย นั่นทำให้แกสคอยน์เซบ์เยสกับทีมไก่เดือนทองในทันที
แกซซ่ามี 3 ฤดูกาลอันยอดเยี่ยม เขาพาสเปอร์คว้าแชมป์ เอฟเอคัพ ในปี 1991 ด้วยผลงาน 6 ประตูจากการลงสนาม 6 นัด สื่อมวลชนทุกสำนักให้คำนิยามว่าเขาคือ “อัจฉริยะลูกหนัง” ความสำเร็จนี้ทำให้เขากลายเป็นตำนานหมายเลข 8 ของสนามไวท์ฮาร์ทเลน บ้านที่เขาแกสคอยน์เคยคิดว่าเขาจะอยู่ไปตลอดชีวิต
แต่แล้ววันหนึ่ง โทรศัพท์จากกรุงโรม ได้เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
ฟอร์มอันร้อนแรงของแกวซ่า เตะตาเจ้าของทีม “ลาซิโอ” จากกัลโช ซีเรียอา ฟุตบอลลีกอันดับหนึ่งของโลกในตอนนั้น และเด็กหนุ่มจากอิตาลี ตัดสินใจเก็บข้าวของออกจากบ้าน เข้าสู่การผจญภัยครั้งใหญ่ ที่กลายเป็นการหลงทางจนกู่ไม่กลับ
แกซซ่าย้ายมาอิตาลี ในฐานะซูเปอร์สตาร์ เขามีรายได้ระดับมหาเศรษฐี แต่ชื่อเสียงเงินทอง กลับกลายเป็นถนนสู่ความหายนะ เริ่มจากวินัยที่หย่อนยาน แกสคอยน์ปล่อยตัวเองให้น้ำหนักเกิน กินอาหารขยะ และดื่มแอลกอฮอล์สม่ำเสมอ สุดท้ายซเดเน็ก ซีแมน โค้ชลาซิโอ ที่ให้ความสำคัญกับความฟิต ทนไม่ไหวและตัดสินใจไม่ต่อสัญญา
แต่อย่างหวังว่าดาวเตะอย่างแกสคอยน์จะปรับปรุงตัว เพราะทางแก้ของแกซซ่าคือ ถ้าลีกระดับท็อปมันเคร่งวินัยนัก ก็ย้ายไปลีกรองๆ แทนสิ ซ้อมก็ไม่หนัก นักเตะก็ไม่เก่ง ไม่ต้องพยายามมากก็เป็นซูเปอร์สตาร์ได้
และในปี 1994 พอล แกสคอยน์ ก็เปิดตัวที่สกอตแลนด์กับทีมกลาสโกลว์ เรนเจอรส์ ด้วยมาตรฐานของลีกที่ไม่สูง แกสคอยน์กลายเป็น “ตัวเทพ” ของลีกทันที และนั่นยิ่งทำให้แกซซ่าได้ใจเขาปล่อยตัวมากขึ้น ดื่มหนักขึ้น แต่ด้วยอายุที่ยังน้อย ร่างกายที่ยังแข็งแรง และฟอร์มในสนามที่ไปได้ดี ทำให้โค้ชมองข้ามเรื่องแย่ๆ ของแกสคอยน์ไป
การเป็นซูเปอร์สตาร์ลูกหนังทำให้แกซซ่าย่ามใจ หลงคิดว่าต่อให้เขาเมาเละเทะแค่ไหน เขาก็ติดทีมชาติอยู่ดี แต่นั่นไม่ใช่กับเกล็น ฮอดเดิ้ล ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษคนใหม่ ที่ตัดสินใจตัดชื่อพอล แกสคอยน์ออกจากทีมชุดฟุตบอลโลก 1998 หลังจากที่หนึ่งสัปดาห์ก่อนประกาศรายชื่อ แกสคอยน์ออกไปเมาในผับ และกินอาหารตอนกลางคืน ไม่ยอมคุมน้ำหนัก
แน่นอนว่า เมื่อแกซซ่าทราบข่าวร้าย เขาก็ไม่คิดแก้ไขตัวเอง แกสคอยน์อาละวาดทำลายข้าวของในออฟฟิศของฮอดเดิ้ลจนพังยับเยิน นี่คือจุดจบบนเส้นทางทีมชาติของดาวเตะอัจฉริยะ และเป็นจุดเริ่มต้นความตกต่ำในชีวิตของพอล แกสคอยน์ ทั้งในและนอกสนาม
“ผมเริ่มดื่มอย่างจริงจังตอนอายุ 28 และเมื่อผมรู้สึกเบื่อกับฟุตบอลในอีก 3 ปีต่อมา ผมก็ดื่มอย่างหนักหน่วง… ผมน่าจะติดเหล้าเมื่อตอนอายุ 28 นี่ล่ะ”
ความผิดหวังได้บดขยี้ความฝันวงการฟุตบอลของแกซซ่าจนแหลกสลาย จนต้องพึ่งแอลกอฮอล์เป็นทางออก ในปี 1998 พอล แกสคอยน์ดื่มวอดก้า 32 ช็อตรวดเดียว จนสลบ จนผู้จัดการทีมต้องเรียกรถพยาบาล พาแกซซ่าผู้ไร้สติ ไปเข้าสถานบำบัด นั่นทำให้แกสคอยน์รู้ว่าเขาไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อความสนุก แต่สมองเขาเสพติดแอลกอฮอล์ไปเสียแล้ว และเขาต้องดื่มมันมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้าย ร่างกายของแกสคอยน์พังเกินกว่าจะเล่นฟุตบอลได้ และแขวนสตั๊ดไปด้วยวัย 37 กับทีมในลีกล่างสุดของอังกฤษ
พอล แกสคอยน์ ให้เหตุผลของการเลิกเล่นฟุตบอลว่า “ต้องการโฟกัสกับงานโค้ช” ซึ่งนั่นเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ แกสคอยน์มีเงินเก็บมหาศาลจากฟุตบอล และเวลาว่างอันเหลือเฟือไปกับ ว็อดก้า วิสกี้ และโคเคน
ภาพที่คนเห็นชินตาคือ ชายร่างท้วม พูดอังกฤษสำเนียงจอร์ดี เดินเข้ามาในผับ ทักทายผู้คนอย่างอารมณ์ดี ซื้อเหล้าเลี้ยงทุกคน ดื่มแบบไม่ยั้ง สลับกับการซื้ดโคเคน จนเมามายไม่ได้สติและฟุบหลับไป
“เมื่อผมดื่ม ผมลืมทุกอย่างและทุกคนที่อยู่รอบตัว ผมไม่ตระหนักเลยว่าผมทำร้ายคนอื่นไปมากแค่ไหน แต่ผมคิดแต่เรื่องความเจ็บปวดที่ผมทำร้ายตัวเอง”
ชีวิตของแกสคอยน์วนเวียนไปแบบนั้น จนถึงปี 2008 ที่เขาถูกศาลสั่งให้อยู่ภายใต้ความดูแลของบุคคลอื่น เนื่องจากมีอาการประสาทหลอนจากการเสพยา รวมถึงเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง และปีนั้นเองที่แกซซ่าถูกสั่งฟ้องล้มละลาย หลังจากที่เขาใช้เงินทั้งชีวิตไปกับเหล้าและยาเสพติด
“ผมไม่โทษใครที่ผมกลับไปติดเหล้าอีกครั้ง ผมอาจจะดื่มต่อไปอีกในอนาคต เพราะคนติดเหล้ามันก็เป็นแบบนี้ล่ะ”
ชีวิตเขาเข้าๆ ออกสถานบำบัดมานับสิบครั้ง การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ทำให้ร่างกายของแกซซ่าซูบผอมและดูแก่เกินวัย เขาน้ำหนักลดลงจากสมัยตอนเป็นนักเตะถึง 20 กิโลกรัม แถมยังมีอาการหวาดระแวง และโรคไบโพลาร์ร่วมด้วย แกสคอยน์อยู่ในจุดตกต่ำสุด ที่ทุกคนในวงการกังวลว่า เขาจะเสียชีวิตเมื่อไหร่?
20 ปีที่ต่อสู้กับปีศาจในใจตัวเอง วันหนึ่งแกซซ่า ก็พบว่าการที่เขาดื่มเหล้าอย่างหนัก มันมาจากความเบื่อหน่ายที่ตัวเองไม่มีเป้าหมายของชีวิต เขาไม่มีความฝันอะไรอีกเลย หลังจากที่อดไปฟุตบอลโลก
“ผมก็แค่เบื่อ และนี่คือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับผม เพราะผมเป็นคนทำให้ตัวผมเองเบื่อ”
นั่นทำให้แกสคอยน์ตัดสินใจหาอะไรทำ นั่นคือ “การออกกำลังกาย” หลังจากเข้ารับการบำบัดในปลายปี 2017 และพอล แกสคอยน์ เริ่มเข้ายิม เริ่มซ้อมวิ่งอีกครั้ง แม้ว่าร่างกายที่เสียไปอาจจะฟื้นฟูไม่ได้เท่าเดิม แต่การมีรูทีนอย่างต่อเนื่อง ทำให้แกซซ่ารู้สึกถึงความหมายของชีวิต ตอนปลายปี 2018 เขาประกาศเลิกเหล้าอย่างเด็ดขาดได้สำเร็จ และกลายเป็นวิทยากรรับเชิญตามสถานบำบัดต่างๆ เพราะต้องการช่วยเหลือคนที่เคยเป็นแบบเขา
เมื่อทีมท็อตแนมฮอตสเปอร์จะจัดฟุตบอลนัดพิเศษ เพื่อต้อนรับการเปิดตัวสนามไวท์ฮาร์ทเลนที่สร้างใหม่ แกซซ่าไม่ลังเลเลยที่จะกลับมาสัมผัสผืนหญ้าอีกครั้ง เขาใช้เวลา 3 เดือนในการฝึกซ้อม แม้ว่าในนัดนั้นเขาจะเล่นได้เพียง 15 นาที อาการเจ็บเอ็นร้อยหวายก็กำเริบและต้องโดนเปลี่ยนตัวออกก็ตาม
พอล แกสคอยน์ ในวัย 51 ปี กลับ “บ้าน” มาเพื่อพิสูจน์ให้แฟนบอลเห็นว่าต่อให้ชีวิตจะต้องล้มกี่ครั้ง เขาก็ลุกขึ้นมาได้เสมอ และนี่คือการกลับมาลงสนามในครั้งนี้ คือการประกาศว่าไม่มีชัยชนะนัดใดที่ยิ่งใหญ่เท่ากับชนะใจตัวเองอีกแล้ว
ปล. วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 52 ของพอล แกสคอยน์ ขอให้แกซซ่ามีสุขภาพแข็งแรงและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุกวัน
แหล่งข้อมูล
https://www.theguardian.com/football/2019/mar/31/gascoigne-spurs-history-stadium
https://www.telegraph.co.uk/football/2019/03/30/paul-gascoigne-makes-emotional-return-spurs-plays-tottenham/
https://www.telegraph.co.uk/sport/football/2292333/The-life-and-times-of-Paul-Gascoigne.html
https://www.theguardian.com/football/2013/mar/21/paul-gascoigne-alcohol-addiction