“คุณมีเวลา 30 นาทีบนสวรรค์ ก่อนที่ปีศาจจะรู้ว่าคุณเสียชีวิต (และพาคุณลงนรก)”
นี่คือสำนวนของชาวไอริชโบราณที่หมายความว่า ช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะเกิดหายนะครั้งใหญ่ มักจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่หลอกให้คนตายใจ
ไม่ต่างอะไรกับนักเตะทีมหมาป่าเมืองเบียร์ โวล์ฟสบวร์ก ที่มาเก็บตัวช่วงปรีซีซันฤดูกาล 2008/09 ที่สวิตเซอร์แลนด์

หลังจากทานข้าวกลางวัน เฟลิกซ์ มากัธ (Felix Magath) กุนซือใหญ่ของทีมได้บอกกับนักเตะทุกคนว่า วันนี้จะงดซ้อมในช่วงบ่าย ให้รางวัลนักเตะทุกคนไปดื่มกาแฟและทานเค้กกันที่คาเฟ่แห่งหนึ่งบนภูเขา คาเฟ่นั้นล้อมรอบไปด้วยทัศนียภาพแมกไม้งามตา และอากาศดีๆ ที่หายใจได้เต็มปอด นักเตะทุกคนแฮปปี้ และรอขึ้นกระเช้าไปที่ร้านกาแฟอย่างตื่นเต้น
แต่แล้วนรกก็มาเยือน
“เอ้า ทุกคนวิ่ง” ผจก.ทีมสัญชาติเยอรมันเชื้อสายเปอร์โตริโกสั่งลูกทีม ทุกคนยืนงงและมองหน้ากัน แน่นอนว่าโค้ชหมายความตามที่พูดทุกตัวอักษร และทุกคนต้องทำตาม
นักฟุตบอลโวล์ฟบวร์กทุกคนต้องสปรินต์เต็มกำลังขึ้นเขาในระยะทาง 2.3 กิโลเมตร โดยเฟลิกซ์ มากัธ โค้ชวัย 54 ปี ก็วิ่งตามหลังนักเตะขึ้นไปด้วย ระหว่างทาง “กราฟิเต้” กองหน้าดาวซัลโวชาวบราซิลของทีม ถึงกลับหมดสติจากความเหนื่อยล้า และถูกทีมแพทย์หามขึ้นเปลสนามลงจากเขาทันที ส่วนคนอื่นๆ ก็ได้แต่ก้มหน้ากัดฟันวิ่งต่อไป
นักฟุตบอลวิ่งถึงยอดเขาทั้งน้ำตา มีเพียงเฟลิกซ์ มากัธ ที่ยังคงหน้านิ่ง คีพลุกจริงจัง และบอกทุกคนว่า “ไปทานเค้กได้”

การฝึกซ้อมด้านพละกำลังอย่างบ้าคลั่งเป็นเครื่องหมายการค้าของโค้ชจอมฟิต เฟลิกซ์ มากัธ มาทุกยุคสมัย จนเขาได้ฉายา (ที่นักเตะเอาไว้นินทาลับหลัง) ว่า ควอลิกซ์ (Qualix) มันเป็นคำผสมกันระหว่าง Qualen ที่แปลว่า “ทรมาน” ในภาษาเยอรมัน กับชื่อ Felix ของโค้ช รวมถึงสมญานามอื่นๆ อย่าง “ผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป” ที่สะท้อนถึงการควบคุมทุกอย่างในทีมเบ็ดเสร็จ
ในสัญญาของเฟลิกซ์ มากัธ จะระบุไว้ชัดเจนว่า เขาต้องมีสิทธิตัดสินใจในการซื้อขายนักเตะทั้งหมดด้วยตัวเอง (ซึ่งปกติฟุตบอลเยอรมัน เฮดโค้ช จะดูแลเรื่องการซ้อมและวางแท็คติกตอนแข่ง แต่ sport director หรือผู้อำนวยการกีฬา จะดูแลเรื่องการซื้อขายนักฟุตบอล) และยังต้องให้เขาเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารสโมสรด้วย
เช่นเดียวกับการตั้งกฏระเบียบยิบย่อยมากมายในทีม อาทิ ห้ามนักฟุตบอลร้องเพลงระหว่างอาบน้ำ และลงโทษด้วยการสั่งปรับเงินแบบไม่ไว้หน้าใคร เช่นปรับเงินคนที่มาซ้อมสายนาทีละ 100 ยูโร (3,500 บาท) และปรับเงินนักเตะถึง 1,000 ยูโร (35,000 บาท) ถ้าระหว่างเกมเขาส่งลูกบอลคืนหลังมากเกินไป

นั่นทำให้ ตลอดการคุมทีมมา 30 ปีของเขาทั้งใน เยอรมนี อังกฤษ และจีน ไม่มีฉายาใดจะเหมาะกับเฟลิกซ์ มากัธมากไปกว่า “ซัดดัม” ที่ตั้งชื่อตามอดีตผู้นำเผด็จการทหารของอิรัก ซึ่งเจ้าตัวออกยืดอกยอมรับด้วยความเต็มใจ
“ไม่เคยมีใครตายเพราะการฝึกซ้อมของผมสักหน่อย” มากัธกล่าวอย่างไม่หยี่ระ
จุดกำเนิดจอมโหด
คิดว่าเฟลิกซ์ มากัธ ได้เอาแนวคิดแบบเผด็จการทหารมาจากไหน? คำตอบคือ “มันอยู่ในสายเลือด”
พ่อของเขาเป็นทหารอเมริกัน ที่มาประจำการที่เมืองอชัฟเฟินบวร์ค (Aschaffenburg) และได้พบรักกับหญิงสาวในเมืองนั้น และมีทายาทด้วยกันในปี 1953
ถึงอย่างนั้น เมื่อเฟลิกซ์อายุได้ 2 ขวบ คุณพ่อปลดประจำการ ก็ทิ้งภรรยาให้เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว และกลับเปอร์โตริโกไปเสียดื้อๆ เฟลิกซ์ตอนอายุ 15 ได้พยายามตามหาพ่อของเขา ด้วยการเขียนจดหมายไปที่หนังสือพิมพ์ เอล โบเซโร (El Vocero) ทั้งสองคนยังติดต่อกันบ้าง แต่กว่าเฟลิกซ์ จะได้พบพ่อจริงๆ ก็ต้องรอถึงปี 1999 ตอนที่เขาอายุจะ 50 แล้ว

เฟลิกซ์ในตอนวัยรุ่นก็มีความฝันเหมือนเด็กเยอรมันทั่วๆ ไปคือการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เขาเริ่มต้นจากการเป็นนักเตะเยาวชนของทีมสมัครเล่นในท้องถิ่น วิคตอเรีย อชัฟเฟินบวร์ค (Viktoria Aschaffenburg) ก่อนที่จะถูกทีมซาบรุคเค่น (Saarbrucken) ในลีกา 2 ซื้อตัวไป เขาเล่นในลีกา 2 แต่ไม่ถึง 2 ซีซัน เขาก็ได้เซ็นต์สัญญากับสิงห์เหนือ ฮัมบูร์ก (Hamburger SV) ยอดทีมในบุนเดสลีกา ในปี 1976 เมื่ออายุ 23 ปี และภายในฤดูกาลแรกที่เล่นในลีกสูงสุด เขาก็ติดทีมชาติเยอรมันตะวันตก
หมากรุก รักแท้และผู้จุดประกายความคิด

Turning point สำคัญของมากัธเกิดขึ้นในซีซัน 1978–79 ที่เขาป่วยเป็นโรคตับอักเสบบี และต้องพักเกือบครึ่งฤดูกาล ระหว่างที่นอนพักฟื้น เขาเปิดทีวีและเจอการถ่ายทอดสดการแข่งขันหมากรุกชิงแชมป์โลกระหว่างแกรี่ คาสปารอฟ (Garry Kasparov) กับ วิคเตอร์ คอร์ชนอย (Victor Korchnoi) วินาทีที่เขาเห็นชาวรัสเซียสองคนประลองหมากกระดาน เขาก็หลงไหลมันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เขาฝึกเล่นหมากรุก และเอาแนวคิดมาประยุกต์กับเส้นทางการค้าแข้ง
“ผมได้ความรู้มหาศาลจากหมากรุก และเอามาใช้กับฟุตบอล”
“ผมเข้าใจเลยว่าทุกการเคลื่อนไหว มีความหมายซ่อนอยู่ หรือการที่เราต้องหาทางโจมตีคู่ต่อสู้ให้ได้ในการเคลื่อนที่แต่ละครั้ง ถ้าใช้กับฟุตบอล มันหมายถึงจะเราลดโอกาสของคู่ต่อสู้ หรือการปรับเปลี่ยนจังหวะบอลอย่างทันที โดยที่เรายังสามารถควบคุมทุกอย่างได้”

ตั้งแต่นั้นมา การเล่นของเฟลิกซ์ มากัธก็พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด เขากลายเป็นหนึ่งในเพลย์เมคเกอร์ที่ดีที่สุดในยุโรป แม้จะสูงเพียง 172 เซนติเมตร แต่ทดแทนด้วยวิสัยทัศน์ การอ่านเกม และพละกำลังในการวิ่งที่ไม่มีวันหมด จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “จอมขมังเวทย์” แห่งโลกลูกหนัง
เขาพาฮัมบูร์กคว้าถาดแชมป์บุนเดสลีกาได้ 3 สมัย คัพวินเนอร์สคัพ 1 สมัย และไฮไลท์สำคัญคือการพาทีมสิงห์เหนือคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพในปี 1983 เช่นเดียวกับการคว้าแชมป์ยุโรปกับทีมชาติเยอรมันในปี 1980 และตำแหน่งรองแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 1982 และ 1986 ซึ่งเขาตัดสินใจแขวนสตั๊ดหลังจบฟุตบอลโลกปีนั้นเอง
หลังจากแขวนสตั๊ด จอมขมังเวทย์ ก็ทำงานในวงการฟุตบอลต่อทันที และใช้ศาสตร์แห่งหมากรุกในการ “ควบคุม” ทีม
นักฟุตบอล = หมากบนกระดานของโค้ช
“ผมคาดหวังให้นักฟุตบอลของผมพิสูจน์ตัวเองด้วยความสามารถทางกีฬา ถ้าผู้เล่นคนไหนทำไม่ได้ ผมก็ไม่เอาไว้”
“คุณจะต้องรักษาระยะห่าง เพื่อคุมทีมให้ประสบความสำเร็จ ในฐานะโค้ช ผมจะต้องตัดสินใจโดยไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง”

นี่คือหลักปรัชญาในการคุมทีมของโค้ชจอมขมังเวทย์ ที่ตัดสินคนจาก “ผลงาน” เท่านั้น โดยที่เขาจะไม่เข้าไปสนิทสนมหรือดูแลสภาพจิตใจให้ใคร และพร้อมเคี่ยวเข็ญทุกคนอย่างเอาเป็นเอาตาย ประกอบกับ แนวคิดของหมากรุกว่าการเคลื่อนหมากหนึ่งตัวบนกระดาน ย่อมสัมพันธ์กับหมากตัวอื่นๆ ไม่แปลกเลยที่เขาจะต่อรองขออำนาจเบ็ดเสร็จในการทำทีม ทั้งการซื้อตัว และบริหารสโมสร
ปี 1995 ฤดูกาลแรกที่เฟลิกซ์ มากัธ เปิดตัวในฐานะผู้จัดการทีมฮัมบูร์ก ในการฝึกซ้อมช่วงเบรกหนีหนาว เขาสั่งให้ทีมไปเก็บตัวฝึกซ้อมที่เมืองที่หนาวที่สุดในเยอรมนี และนักฟุตบอลทุกคนต้องตื่นมาวิ่งกลางหิมะ ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น
การวิ่งครอสครันที่ วิ่งข้ามป่า วิ่งขึ้นเขา เป็นกิจวัตรประจำวันที่นักฟุตบอลทุกคนต้องเจอ
“พวกเราต้องวิ่งเต็มฝีเท้าจากด้านหนึ่งของป่าทะลุไปอีกด้านหนึ่งภายใน 45 นาที ซึ่งมันเป็นทางขึ้นเขาด้วยนะ ที่แขนของพวกเราทั้งสองมีลูกบอลยางสำหรับออกกำลังกายผูกเอาไว้เพื่อถ่วงน้ำหนัก และเราต้องไปให้ถึงที่หมายแข่งกับเวลา ถ้าพวกเราวิ่งไปไม่ทันเวลา ทั้งทีมก็จะโดนซ่อมให้วิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ ผมแม่งแทบตายกว่าจะจบเซสชั่นฝึกซ้อมของมากัธในแต่ละวันได้”
แยน อาเก้ ฟอร์ทอฟต์ กองหน้าสัญชาตินอร์เวย์รำลึกถึงความหลัง สมัยที่เขาคุมทีมแฟรงค์เฟิร์ต

เช่นเดียวกับที่โวล์ฟบวร์ก โค้ชจอมขมังเวทย์ ได้สั่งให้สร้างเนินสูงราวๆ 4 เมตรที่เรียกว่า ‘Hill of Suffering’ ไว้ในสนามซ้อมให้นักฟุตบอลได้ซ้อมวิ่งขึ้นลงเสริมกำลังขาโดยเฉพาะ รวมถึงการตั้งกฏระเบียบเล็กๆ น้อยๆ อีกมากมาย ที่เคร่งครัดราวกับอยู่ในค่ายทหาร เช่น ระหว่างการเดินไปพักผ่อนหลังทานข้าว ห้ามใครเล่นโทรศัพท์หรือฟังเพลงจาก iPod และใครที่มาซ้อมสาย จะถูกจับให้ซ้อมวิ่งเพิ่มหลังจากฝึกซ้อมของทีม เป็นเวลา 2 อาทิตย์ เป็นต้น (เช่นเดียวกับกฏอื่นๆ ที่บอกไปในตอนแรก)
“ทุกคนรู้ดีว่าผมเห็นความฟิตเป็นเรื่องใหญ่ คุณต้องผลักตัวเองไปให้สุดขอบเพื่อดึงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่”

ถึงอย่างนั้น การฝึกซ้อมที่ท้าทายขีดความสามารถของมนุษย์ กลับได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อ ในช่วงทศวรรษ 2000 เขาทำให้ทีมไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ตรอดตกชั้น และทำให้ทีมสตุทการ์ท พุ่งจากทีมหนีตกชั้นมาเป็นทีมหัวตารางทันทีที่เขาคุมทีม ประกอบกับการบันดาลให้โวล์ฟบวร์กได้แขมป์บุนเดสลีกาครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2009 เช่นเดียวกับการได้รับรางวัลผู้จัดการทีมแห่งปีถึง 3 สมัยในปี 2003, 2005 และ 2009 รวมถึงแชมป์อื่นๆ อีกมากมาย
จนทำให้ยอดโค้ชนักทรมานกล้าบอกกับผู้สื่อข่าวอย่างไม่กลัวโดนหมั่นไส้ว่า “ทำไมต้องเปลี่ยนวิธีฝึกซ้อมล่ะ ในเมื่อผมคือผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดในเยอรมนี”
ด้านมืดของวินัย
เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ การฝึกซ้อมที่รุนแรงและวินัยที่หนักหน่วง ทำให้นักเตะทีมเล็กๆ รวมกันเป็นหนึ่งและพร้อมทำทุกอย่างตามที่โค้ชในฐานะแม่ทัพใหญ่สั่งก็จริง แต่สำหรับนักฟุตบอลทีมใหญ่ที่เก่งและมีอีโก้สูง เฟลิกซ์ มาร์กัธ เป็นเพียงแค่ตาแก่น่ารำคาญ ที่อวดอ้างแต่ความสำเร็จเก่าๆ ใช้แต่พระเดชกดดันให้ลูกทีมทำตาม

ตอนคุมบาร์เยิน มิวนิค แม้เขาจะได้ดับเบิ้ลแชมป์ บุนเดสลีกา ควบเดเอฟเบโพคาล 2 ซีซันติด แต่เขาไม่ได้เป็นที่นิยมชมชอบของนักเตะ รวมถึงบอร์ดบริหารเลยแม้แต่น้อย โชคดีที่ขีดความสามารถของแข้งเสือใต้สูงกว่าทีมอื่นมาก และวัฒนธรรมของทีมเข้มแข็งอยู่แล้ว เลยคว้าความสำเร็จได้ ส่วนในซีซันที่สาม เขาก็โดนตะเพิด เพราะไปงัดข้อกับผู้บริหาร
อูลี่ เฮอเนส ประธานสโมสรบาร์เยิน มิวนิค ให้นิยามลูกน้องเก่าของเขาว่าเป็น “พวกหวาดระแวง” และ “คลั่งการควบคุม” พร้อมสำทับไปว่า “ผมไม่มีวันที่จะปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ แบบเดียวกับกับที่ไอ้หมอนั่นทำเป็นอันขาด”

เช่นเดียวกับเจฟเฟอร์สัน ฟาร์ฟาน แข้งทีมชาติเปรูที่เคยร่วมงานกับเฟลิกซ์ มากัธ ที่ชาลเก้ 04 ระหว่างปี 2009-2011 ก็ได้ให้สัมภาษณ์ไม่ไว้หน้าเจ้านายเก่าเอาไว้ว่า
“ผู้จัดการทีมทุกคนที่ชาลเก้เคยมีมาในปีก่อนๆ ล้วนทำสิ่งดีๆ ฝากไว้ให้กับสโมสร แต่มีแค่คนหนึ่งที่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย นั่นคือมากัธ สิ่งที่เค้าทำมีแค่การปรับเงินนักฟุตบอลเท่านั้น”
นอกจากนี้ ยังมีเสียงตะโกนของกองเชียร์ชาลเก้ 04 ที่ร่วมกันกระหน่ำใส่ “ผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป” ว่า “เฟลิกซ์ มากัธออกไป” “ไม่ต้องกลับมาอีก” เสริมเข้าไปอีกด้วย

หลังจากความล้มเหลวไม่เป็นท่ากับการเป็นเฮดโค้ชและผู้อำนวยการฟุตบอลที่ชาลเก้ เขาโดนตะเพิดออกจากทีมในปี 2011 เฟลิกซ์ มากัธ กลับไปคุมโวล์ฟบวร์กอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ โชคไม่เข้าข้าเอาเสียเลย ทีมแพ้เอาๆ นักเตะเล่นกันแบบไร้ใจพร้อมไล่โค้ช แต่การมีอำนาจเบ็ดเสร็จทำให้เขาใช้เงินอย่างมือเติบ เมื่อมีนักเตะไม่เอาด้วย เฟลิกซ์ก็ซื้อนักเตะใหม่มาเล่น หรือไม่ก็ดันนักเตะจากชุดเยาวชนขึ้นมาแทน
ไม่น่าเชื่อว่าฤดูกาลสุดท้ายของโค้ชจอมเผด็จการกับโวล์ฟบวร์ก เขาใช้นักเตะไปถึง 32 คน และใช้เงินกับการซื้อแข้งใหม่ถึง 70 ล้านยูโร กับทีมที่ไม่ได้ใหญ่มากอย่างโวล์ฟบวร์ก นี่คือฟางเส้นสุดท้ายที่เจ้าของทีมเกินจะทน และเขาโดนปลดออกในปี 2012
กิตติศัพท์การเป็น “ซัดดัม” ของเฟลิกซ์ มากัธ เป็นที่รู้กันดีทั่วเยอรมัน และไม่มีทีมไหนอยากจ้างโค้ชเจ้าปัญหาไปคุม นั่นทำให้กุนซือผู้โอหัง ตกงานถึง 2 ปีเต็ม ก่อนที่จะได้รับโอกาสจากทีมเล็กๆ ที่กำลังหนีตายในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ “ฟูแล่ม” กับโอกาส 12 นัดในการพาทีมหนีโซนตกชั้น
จอมขมังเวทย์สิ้นมนขลัง

ความพยายามกลับมาเกิดใหม่ของเฟลิกซ์ มากัธ กลายเป็นสุสานขุดหลุมฝังเขาจากอาชีพผู้จัดการทีมโดยสมบูรณ์ เมื่อฟูแล่มตกชั้น โดยแพ้ไป 6 จาก 12 เกม พร้อมกับการสร้างวีรกรรมของการเป็น “ซัดดัม” ให้รู้จักกันทั่วสหราชอาณาจักร
“หลังจากที่พวกเราออกไปแพ้ในเกมเยือน เราขึ้นรถบัส และเขา (เฟลิกซ์ มากัธ) ก็พูดขึ้นมาว่า พรุ่งนี้ผมขอให้พวกคุณมา 8 โมงตรง เรามีนัดซ้อมพิเศษกัน” สตีฟ ซิดเวลล์ อดีตนักเตะของทีมเจ้าสัวน้อย ณ เวลานั้นรำลึกความหลัง
เมื่อนักฟุตบอลฟูแล่มถึงสนามซ้อม ก็พบว่าเฟลิกซ์ มากัธมารอพวกเขาอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มาแปลกตรงที่ ทุกคนสังเกตดเห็นว่าในสนามซ้อมไม่มีลูกฟุตบอลปรากฏให้เห็นเลยสักลูก
“ทุกคนเข้าประจำตำแหน่ง” เฟลิกซ์สั่ง
“ในเมื่อเมื่อวานพวกเอ็งไม่ยอมวิ่ง วันนี้พวกเอ็งก็ไม่ต้องวิ่ง”
ตอนนั้นเป็นช่วงหน้าหนาวและอุณหภูมิอยู่ปริ่มๆหลักหน่วย แต่อดีตโค้ชบาร์เยิน มิวนิคและโวล์ฟบวร์ก ก็สั่งให้นักฟุตบอลฟูแล่มยืนเฉยๆ บนสนาม เฟลิกซ์เดินไปรอบๆ ตรวจเช็คว่าทุกคนได้ถอดถุงมือออก และไม่มีใครขยับตัวออกจากตำแหน่ง
“วันนั้นมันหนาวมาก และมีนักฟุตบอลสองคนใส่ถุงมือมา แน่นอนว่าพวกเขาถูกสั่งให้ถอดออกทันที ผมเห็นใบไม้ถูกลมพัดปลิวไปทั่วสนาม คุณไม่สามารถสบตากับใครได้ คุณได้แต่ยืนนิ่งๆ เราใช้เวลา 40 นาทีกับการยืนนิ่งๆ อย่างนั้น เฟลิกซ์ก็จะเดินไปรอบๆ หยุดและเดินไปรอบๆ และก็ไปยืนดูจากข้างสนาม” ซิดเวลล์เผย
ถึงแม้บอร์ดบริหารจะให้โอกาสแก้มืออีกครั้งในศึกแชมเปี้ยนชิพ แต่ทีมที่ขวัญกำลังใจแตกสลาย ทำให้นักฟุตบอลพร้อมใจกันเตะไล่โค้ช 4 นัดแรกในลีกรอง เจ้าสัวน้อยแพ้รวด และกุนซือชาวเยอรมันก็ชะตาขาดต่อจากนั้นไม่นาน

หลังตกงานที่ลอนดอน เขาก็ว่างงานไปอีก 2 ปี ก่อนที่ย้ายไปเมืองจีน เพื่อคุม ชางดง หลู่เหนิง แต่ผลงานไม่ได้ตามเป้า มากัธโดนไล่ออกอีกครั้ง และว่างงานมาจนถึงทุกวันนี้
กูรูลูกหนังหลายคนมองว่า ความล้มเหลวของมากัธ นอกจากการเทรนนิ่งที่เน้นแต่กำลังมากกว่าแทคติคแล้ว ในยุคปัจจุบันที่นักฟุตบอลมีรายได้มหาศาล และถูกปฏิบัติแบบซูเปอร์สตาร์ การไม่แม้แต่จะบริหารคนหรือซื้อใจลูกทีมเลยของมากัธ กลับบั่นทอนจิตใจผู้เล่นและทำลายความสามัคคีภายในทีม ผลงานก็เลยดิ่งลงเหว

ถึงอย่างนั้น ด้วยสถานะทางการเงินที่ร่ำรวยอยู่มาก เฟลิกซ์ มากัธผู้ว่างงานในตอนนี้จึงมีเวลาเดินทางไปดูกีฬาต่างๆ มากขึ้น ทั้งฟุตบอล เทนนิส รถฟอร์มูล่าวัน และแน่นอน “หมากรุก” ดังที่เห็นได้จากทวิเตอร์ @Felix_Magath_ รวมถึงไปเป็นคอมเมนเตอร์ฟุตบอล และวิทยากรอบรม รับเชิญอีกด้วย เช่นเดียวกับการไปพบปะเยี่ยมเยือนนักเตะเก่าๆ ที่เขาคุยคุมทีม นั่นทำให้ชีวิตของชายวัย 65 ปีไม่เหงาเมื่อห่างหายจากการคุมทีมข้างสนาม
ไม่มีใครรู้ว่าเฟลิกซ์ มากัธ จะกลับมาคุมทีมอีกเมื่อไหร่ แต่เรามั่นใจว่า ทีมนั้นนักฟุตบอลจะฟิตเต็มถังตลอด 90 นาทีอย่างแน่นอน อย่างที่แยน อาเก้ ฟอร์ทอฟต์ ได้กล่าวติดตลกเอาไว้ว่า
“ผมไม่รู้ว่าเฟลิกซ์ มากัธ จะช่วยให้เรือไททานิคไม่จมได้หรือไม่ แต่ผมมั่นใจว่าผู้รอดชีวิตทุกคนฟิตเต็มร้อยแน่ๆ”
แหล่งอ้างอิง
http://bundesligafanatic.com/20111130/interview-of-the-week-felix-magath/
https://the18.com/soccer-entertainment/felix-magath-training-story-fulham
https://www.independent.co.uk/sport/football/premier-league/felix-magath-mad-or-messiah-fulhams-new-manager-has-a-fierce-reputation-as-a-football-dictator-but-9131158.html
https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/fulhams-felix-magath-brushes-question-3167968
https://www.theguardian.com/football/blog/2012/oct/08/bundesliga-felix-magath-wolfsburg
https://www.kingfut.com/2016/01/31/felix-magath-alahly-last-dictator/
https://www.bbc.com/sport/football/26265494
https://www.telegraph.co.uk/sport/football/teams/fulham/10655093/How-Fulham-players-can-survive-Felix-Magath-No-singing-in-the-shower.html
http://bundesligafanatic.com/20101210/the-other-side-of-discipline-%E2%80%93-the-tactical-efficiency-of-felix-magath-%E2%80%93-a-four-part-retrospective/
https://thesefootballtimes.co/2015/01/19/the-felix-magath-before-felix-magath/
https://www.fourfourtwo.com/features/dress-sense-medicine-balls-dictatorship-what-felix-magath-will-bring-fulham
https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/fulham-sack-rene-meulensteen-felix-3146905
https://provenquality.com/felix-magath-extreme-training-potential-make-break-fulham/
https://www.nytimes.com/2009/05/25/sports/soccer/25iht-SOCCER.html