“เราฝากเพื่อนที่ไปต่างประเทศซื้อของทำไมกัน?” นั่นคือคำถามที่เราถามตัวเอง หลังจากเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยคนหนึ่งส่งลิสต์รายการของที่นางต้องไปซื้อที่ญี่ปุ่นมาให้เราดู พร้อมถามเราว่าจะให้เราฝากซื้ออะไรไหม?
แน่นอนว่าเราไม่รู้สึกอยากได้อะไรจากญี่ปุ่นโดยเฉียบพลัน เลยบอกว่าไม่เป็นไร แต่พอเราเห็นของนี่เพื่อนเราต้องซื้อที่มีมากกว่า 40 รายการ เราก็อดตกใจไม่ได้ว่า ในยุคที่เราซื้อของออนไลน์ส่งข้ามประเทศได้นั้น ทำไมเราถึงต้องการฝากเพื่อนซื้อของจากต่างประเทศให้อยู่
เราเข้าใจว่าการฝากคนอื่นหิ้วนั้นช่วยประหยัด “ค่าส่ง” จากการสั่งออนไลน์ได้
ถึงอย่างนั้น เราก็อยากรู้ว่าคนที่ฝาก รู้ไหมว่ามีคนอื่นๆ อีกมากมายที่ฝากด้วย และเคยคิดไหมว่าคนไปเที่ยว เขาอาจซื้อของส่วนตัวกลับมาไทยอีก แล้วถ้าเราฝากของไปด้วยเค้าจะแบกกลับมาไทยไหวมั้ย ลำบากมั้ย
แต่เราก็สงสัยต่อว่า ถ้าต้องการของชิ้นนั้นจริงๆ ก็ไม่เห็นต้องรอเพื่อนสักคนไปเมืองนอกเลยนี่นา ก็เข้า Amazon, Rakuten หรือ Alibaba ได้เลยนี่ แล้วแค่ขอที่อยู่โรงแรมเพื่อน เพื่อให้เพื่อนช่วยขนกลับมาก็ได้อยู่ดี
เราก็เลยคิดว่า มันคงเป็นแค่นิสัยอยากอวดความสำคัญของตัวเองว่า “นี่นะฉันเป็นที่รักของคนทุก เวลาใครไปต่างบ้านต่างเมืองก็ยังนึกถึงฉัน ยังซื้อของมาฝากฉัน” หรืออีกนัยหนึ่งคือการอยากอวดคอนเนคชั่นของตัวเองว่า “รู้จักคนโน้นคนนี้” โดยการเอาความลำบากของเพื่อนตัวเอง มาเป็นหลักฐานว่าฉันเส้นใหญ่ ฉันมีอำนาจ ต่อหน้าคนอื่น

อย่างที่เราบอกไปถ้าอยากได้ของจริงๆ คงกดสั่งให้มันส่งที่บ้านตัวเองไปนานแล้ว ไม่ต้องรอเพื่อนบังเอิญไปประเทศที่มีของพอดีหรอก เราเลยรู้สึกอึดอัดทุกครั้งที่เห็นใครต้องไปต่างประเทศเพื่อซื้อของให้เพื่อนที่ฝาก แทนที่จะเอาเงินตัวเองไปเที่ยวอย่างมีความสุข
นี่พูดจากมุมมองของคนที่เกิดมายังไม่เคยฝากใครซื้อของที่ต่างประเทศ (ขนาดคนที่ทำธุรกิจรับหิ้วของเรายังไม่เคยใช้บริการเลย) และถ้าใครจะมาฝากซื้อของจากเรา เราจะตอบว่า “ถ้าบังเอิญเจอจะซื้อมาให้นะ ถ้าไม่บังเอิญเจอก็ไม่ซื้อให้น่ะ”
สุดท้ายแล้ว การฝากเพื่อนซื้อของจากต่างแดนก็คงเป็นเครื่องมือแสดงอำนาจและความสำคัญของตัวเองต่อคนอื่น เท่านั่นจริงๆหรือนี่?