เพิ่งดูวิดิโอสัมภาษณ์คนไทยที่ทำงานเบื้องหลังให้กับหนังฮอลลีวู้ดมา เค้าพูดได้น่าสนในมากว่า “การใจดีนี่มันอาจจะหมายถึง การที่ทำให้ระบบบางอย่างที่มันควรจะเป็นระบบถูกทำลายไป”
อารมณ์แบบ กองเลิกเลทเหรอ ช่วยๆกันหน่อยนะน้องทีมไฟ / หมดเวลาของคิวนักแสดงแล้ว แต่นักแสดงคนนี้สปิริตดีจัง ยอมอยู่จนงานเสร็จถึงตีสี่ และไม่เอาเงินเพิ่มด้วย
แต่ของเมืองนอกทุกตำแหน่งมีสหภาพวิชาชีพรองรับไว้หมด ถ้าหมดเวลาก็คือหมดเวลา จะให้ถ่ายต่อจะโดนฟ้องเอาได้ หนังถ่ายต่อไม่ได้ก็ต้องหาวิธีบริหารกองกันใหม่ให้ทันตามช่วงเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา
ลองคิดดูสิ หลายๆ ตำแหน่งเป็นฟรีแลนซ์ที่ขับรถมาที่กองถ่ายเอง พอทำงานล่วงเวลาหนักๆ ขับรถกลับบ้านก็อันตราย เสี่ยงจะหลับในกลางทางได้ การมีระบบที่ชัดเจน เป็นการช่วยให้คุณภาพชีวิตคนทำงานดีขึ้น จะได้มีแรงมาทำงานในโปรเจคต์อื่นๆ ได้อีก

ไม่ใช่แค่เรื่องวงการหนังหรอก การเชิดชูน้ำใจมากจนเกินควร มีอยู่ทุกที่ในประเทศนี้
เราชื่นชมเจ้านายที่รับฟังความเห็นพนักงาน เวลาพนักงานป่วยก็ควักเงินจากเก๊ะตัวเองมาให้กับมือ มากกว่าเจ้านายที่จัดตั้งสหภาพแรงงาน และมีกองทุนรักษาพยาบาลประจำบริษัท
เราเชิดชูพี่ตูนที่วิ่งหาเงินบริจาค มากกว่าระบบจัดสรรงบประมาณที่ใช้ได้จริง เราเชิดชูคนใจดีพาคนตาบอดข้ามถนน มากกว่าการปูเบรลบล็อคให้ถูกวิธี
เราชื่นชมคนเสียสละ มากกว่าคนรักษาระบบ และก็หลอกตัวเองว่า “น้ำใจคนไทยนี่ช่างสวยงาม”
นี่พูดมาไม่ได้บอกว่าการมีน้ำใจเป็นสิ่งที่ไม่ดี การมีน้ำใจเป็นสิ่งที่ดีแน่ๆ สิ่งที่แย่คือการให้น้ำใจต้องแบกภาระประหนึ่งยาครอบจักรวาลต่างหาก
เราจะเลือกเชิดชูหมอหนึ่งคนที่ติดป้ายหน้าคลินิกหนึ่งแห่งว่า “คนจนรักษาฟรี” หรือเราจะเลือกระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้คนถือบัตรทองเข้าไปรักษาฟรีในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศล่ะ