“ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการยักยอกเงิน 11 ล้านบาทจากโครงการช่วยเหลือนักเรียนหญิงจากการค้ามนุษย์”

นี่คือ 3 ข่าวใหญ่ที่ออกมาติดๆ กันแทบทุกอาทิตย์ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เรื่องราวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่แค่นักการเมือง (ที่อยู่ได้ไม่เกิน 4 ปีตามวาระการเลือกตั้ง) เท่านั้นที่โกง ข้าราชการ (ที่อยู่ในตำแหน่ง 30–40 ปียันเกษียณ แถมเมื่อทำผิดส่วนมากก็จะโดนสั่งย้ายเปิดโอกาสให้ไปโกงที่อื่นต่อซะงั้น) ก็เป็นกลุ่มคนที่โกงไม่แพ้กัน สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคือคนที่โกงล้วนทำงานในโครงการ “ช่วยเหลือคนยากไร้” สร้างภาพลักษณ์ดีๆ เป็นหน้ากากปิดบังความเลวของตัวเองไว้
แต่จะไปโจมตีที่ตัวบุคคลว่าคนเหล่านั้นชั่วช้า ไร้จิตสำนึก สมควรเอามาลงโทษ เราก็จะต้องวนลูปเสียบประจานคนผิดให้อับอายเป็นครั้งๆ อยู่ร่ำไป เราไม่สามารถแก้ปัญหาการโกงได้ ถ้าไม่เข้าใจต้นตอของการโกงจริงๆ
หลังจากหาข้อมูลเรื่องจิตวิทยาของการโกง เราสรุปออกมาได้ 3 ข้อด้วยกัน…

1. Moral Licensing ใบอนุญาตทำชั่ว
มีแนวคิดหนึ่งที่อธิบายอย่างน่าสนใจว่าทำไมคนที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือคนอื่นกลับโกงกินได้หน้าตาเฉย นั่นคือเรื่อง Moral Licensing หรือใบอนุญาตทำชั่ว เวลาคนเรารู้สึกว่าเราได้ทำอะไรดีๆ เพื่อช่วยเหลือคนอื่น หัวใจจะพองโตไปด้วยความสุข และความสุขนั้นทำให้เจ้าตัวรู้สึกว่า “ฉันมีแต้มบุญสะสมในตัวเยอะแล้ว ทำผิดนิดๆ หน่อยๆ จะเป็นไรไป” เช่น ตอนที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งจัดทีมอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในปี 2554 ก็พบว่าอาสาสมัครจำนวนไม่น้อยหยิบของบริจาคกลับบ้านไปใช้เอง ไม่ต่างอะไรกับข้าราชการด้านการศึกษา ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเด็กๆ มาตลอด จะเอาไปแค่ 11 ล้านจาก 88 ล้าน ก็คงไม่ทำให้ตัวเองเป็นคนเลวทรามอะไร
ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำการทดลองให้ลูกเต๋ากับกระดาษที่เขียนเลข 1–6 ไว้แล้ว 18 ข้อกับผู้เข้าร่วมการทดลอง อาสาสมัครเหล่านั้นจะต้องโยนลูกเต๋า 18 ครั้ง แล้วตรวจว่าเลขจากหน้าลูกเต๋าที่โยนได้ในแต่ละครั้งตรงกับตัวเลขในกระดาษหรือไม่ ยิ่งตรงกันหลายครั้ง ก็จะได้เงินจากผู้วิจัยมากขึ้นด้วย ผู้วิจัยจะไม่เข้าไปดูเวลาอาสาสมัครทอยลูกเต๋าและตรวจคำตอบ งานนี้อาศัยความซื่อสัตย์ของอาสาสมัครล้วนๆ

ผลก็คือค่าเฉลี่ยของการโยนแล้วตรงอยู่ที่ 6 จาก 18 ครั้ง ทั้งที่ดูตามหลักสถิติแล้วมันควรถูกแค่ 3 ครั้ง มิหนำซ้ำสถานที่ที่คนโยนเต๋าแล้วแม่นที่สุด (และได้เงินจากผู้วิจัยไปมากที่สุด) คือ “ในวัด” อาสาสมัครให้เหตุผลไว้ว่า
“เพิ่งทำบุญมา คงโชคดีที่ได้คะแนนเยอะ”

2. พลังการแพร่ระบาด เขาทำได้ เราก็ทำได้
นอกจากการได้ทำความดีจะเป็นหลุมพรางให้คนโกงกินแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งคือ “พลังการแพร่ระบาด” เวลาเห็นคนอื่นๆ โกง ยิ่งกระตุ้นให้ตัวเราอยากโกงมากขึ้น อย่างเช่น Dan Ariely นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมนุษย์เคยทำการทดลองที่มหาวิทยาลัยดุ๊ค ที่ให้นักศึกษาทำโจทย์คณิตศาสตร์และตรวจคำตอบด้วยตนเอง จากนั้นให้มารายงานคะแนนที่ทำได้ แล้วจะได้เงินรางวัลจากผู้วิจัยข้อละ 50 เซนต์ ยิ่งตอบถูกมาก เงินรางวัลก็จะมากขึ้นด้วย
ผลที่ออกมาคือนักศึกษาเกือบทั้งหมดบอกคะแนนกับผู้วิจัยเกินคะแนนที่พวกเขาทำได้จริง ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือเมื่อเห็นเพื่อนโกง พวกเขาก็โกงตาม ไม่แปลกที่ว่าเมื่อศูนย์พึ่งพิงของผู้ยากไร้ในจังหวัดหนึ่งโกง (แถมไม่โดนจับได้) หัวหน้าศูนย์ที่อื่นๆ ก็เลียนแบบตามๆ กันไป หรือการเห็นหัวหน้าของตนโกงมาต่อเนื่อง พอตัวเองขึ้นมาเป็นหัวหน้าเลยทำบ้าง เพราะเห็นเป็นเรื่องปกติ

3. เปิดช่องให้โกง ก็ยิ่งโกงไปใหญ่
ยิ่งกว่านั้น งานวิจัยของ Dan Ariely บอกอีกว่าถ้าคนเรารู้สึกว่ามีช่องให้โกงได้ง่าย คนเรายิ่งโกงได้มาก และคนจะโกงน้อยลง ถ้าช่องทางโกงถูกปิด เช่น เมื่อผู้วิจัยเพิ่มเงินรางวัลจากข้อละ 50 เซนต์เป็นข้อละ 10 ดอลลาร์ จำนวนนักศึกษาที่โกงคะแนนลดลง เพราะถ้าทำแบบเดิม ผู้วิจัยจะต้องเสียเงินเพิ่มอย่างฮวบฮาบ และอาจจับพิรุธได้
หรืออย่างการทดลองเรื่องทอยลูกเต๋า ก็ได้ผลว่า คนที่ทอยในสถานที่ที่เงียบจะบอกว่าตัวเองโยนแต้มได้ถูกน้อยกว่าสถานที่อื่นๆ (เพราะผู้วิจัยจะได้ยินเสียงทอยลูกเต๋าชัดเจน) ตอนที่ผู้วิจัยทดลองในวัด เวลานั้นฝนตกกระทบหลังคาศาลาวัดเสียงดัง ไม่แปลกที่ว่าการทอยเต๋าในวัดคนจะโยนแต้มได้แม่นที่สุด
ปัญหาอันร้ายแรงคือวัฒนธรรมไทยเปิดช่องให้คนโกงได้มาก ผศ.ดร. ธานี เคยสำรวจคนไทยกลุ่มตัวอย่างเรื่องนิยามของ “คนดี” พบว่าส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า “คนดี” คือคนที่เชื่อฟังผู้ใหญ่

หรือในสังคมการทำงานก็มีคำพูดติดปากกันว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” โดยเฉพาะสังคมข้าราชการบ้านเราต้องพึ่งพิงเส้นสายหรือทำตัวให้เป็นที่รักของคนที่ C สูงกว่า เพื่อให้ตัวเองได้เลื่อนขั้น ผู้น้อยต่อให้เห็นผู้ใหญ่โกงก็จะไม่บอกนายว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด แต่จะหันไปประจบเพื่อหวังให้เศษเสี้ยวของผลประโยชน์ตกมาถึงตัวแทน
ด้วยเหตุนี้คนที่กล้าแฉเรื่องฉ้อฉลจึงเป็นนักศึกษาฝึกงาน คนที่ทำงานฟรีแลกเกรดแล้วจากไป แต่คนที่เป็นครูบาอาจารย์กลับทำตัวน่าละอายเสียเองที่บังคับให้น้องเค้ากราบเท้าขอขมาข้าราชการที่คดโกง เพราะกลัวตัวเองเสียผลประโยชน์

ทั้งสามปัจจัยนี้ ไม่สามารถแก้ที่จิตสำนึกของข้าราชการคนใดคนหนึ่งได้ เราต้องมีระบบตรวจสอบเพื่อปิดช่องทางทุจริตจากองค์กรอิสระที่บริหารโดยประชาชน รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้พูดและให้สื่อนำเสนอข่าวตามจริง และสำคัญที่สุดคือรัฐสวัสดิการ ที่ทำให้งานช่วยเหลือสังคมเป็นเรื่องที่รัฐต้องทำเป็นปกติ ไม่ถือเป็นบุญคุณหรือคุณงามความดีพิเศษ นำไปสู่ Moral Licensing อย่างที่เป็นมา
และนี่จะเป็นการต้านโกงอย่างยั่งยืนจริง ที่เราหวังให้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ที่มาของข้อมูล
https://www.the101.world/content-form/article/why-do-we-corrupt-thanee/
http://iyom-bookviews.com/หมวดจิตวิทยา/อ่านทะลุความคิด.html
https://www.posttoday.com/social/general/545714
https://www.thairath.co.th/content/1223395