“เราไม่ได้เลินเล่อ เราโดนแฮ็ค”
“ยืมเค้ามาคืนไปหมดแล้ว”
“เครื่องมือนี้ใช้งานได้จริง”
เราเกิดและเติบโตมาในสังคมไทย เราเห็นตัวอย่างอันนับไม่ถ้วนของคนทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด สุดท้ายก็หาเหตุผล (ที่ฟังดูยังไงก็ไม่น่าเชื่อ) มาอ้าง สุดท้ายก็พ้นผิด ให้ประชาชนอย่างเราๆ บ่นกันสักพัก แล้วก็ลืมๆ กันไป จากนั้นก็มีเหตุดราม่าเรื่องใหม่เข้ามา ให้คนใหญ่คนโตเหล่านั้นดริฟท์หนีอีกครั้ง แล้วทุกอย่างก็วนกลับมาที่เดิม
หรือแม้แต่ชาวเน็ตทั่วไป เราก็จะเห็นเคสดราม่าที่ฝ่ายหนึ่งเถียงแพ้แล้วไม่ยอมจบ จะแถว่าตัวเองไม่ผิดอยู่ท่าเดียว หรือร้ายกว่านั้นก็บล็อกคนที่เข้ามาคอมเมนต์ซะเลย นั่นทำให้เราสงสัยว่า “แค่ยอมรับผิด มันยากนักหรือ?” ซึ่งพอเราไปค้นข้อมูลแล้ว พบว่า “เออ… มันก็ยากจริงๆ นะ”

ในทางจิตวิทยาอธิบายว่า การไม่ยอมรับผิดเป็นเรื่องความขัดแย้งใน “ตัวตน” หรือ cognitive dissonance ที่ Carol Tavris เจ้าของหนังสือ ‘Mistakes Were Made (But Not by Me)’ อธิบายไว้ดังนี้
“เราจะรู้สึกถึงความขัดแย้งในตัวตนเมื่อภาพที่เรามองตัวเอง ว่าเราเป็นคนฉลาด จิตใจดี และที่เราบอกตัวเองเสมอว่านั่นคือความจริง ถูกคุกคามจากหลักฐานบางอย่างที่บอกว่าเราไม่ได้ฉลาด เราทำร้ายคนอื่นลงไป และสิ่งที่เราเชื่อว่าตัวเองเป็นนั้นไม่ใช่ความจริง”
“ความขัดแย้งนี้ทำให้เราลำบากใจ และเราจะทำอะไรบางอย่างเพื่อลดความขัดแย้งนั้นลง” ด้วยเหตุนี้ คนเราจึง “แถ” เฉไฉความผิดไปที่คนอื่น เพื่อให้ตัวเองยังรู้สึกเราว่าเป็นคนดี คนเก่ง คนฉลาดได้อยู่”
ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยของ European Journal of Social Psychology ในปี 2012 ยังบอกอีกว่าการไม่ออกมาขอโทษ จะทำให้เจ้าตัวรู้สึกเหนือกว่า เพราะไม่เสีย self-esteem
มองดูสังคมของเราที่ให้ความสำคัญกับ “อำนาจ” ของ “ผู้ใหญ่” แล้ว การยอมรับผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกมาขอโทษจากคนใหญ่คนโต เป็นเรื่องที่หาได้ยาก
“การรักษาหน้าตาสำคัญกว่าความละอายต่อการทำบาป”
กล่าวโดยยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ.ยุกติมองว่าหน้าตา ซึ่งก็คือภาพที่คนอื่นมองเรา เป็นสิ่งสำคัญในสังคมไทย เพราะ “หน้าตา” เป็นเครื่องสะท้อนอำนาจของคนๆ น้ั้นที่มีในสังคม

เพราะเหตุนี้เอง ทำให้เรามองว่า ต่อให้เจ้าตัวยอมรับผิดและขอโทษไปอย่างจริงใจ ถึงจะได้ใจคนทั่วไป แต่การบอกกับผู้อื่นว่าเขาผิด ทำให้เจ้าตัวเสียอำนาจเดิมที่เคยมี และส่งผลต่อสถานะทางสังคม ทำให้ตราบใดที่คนๆ นั้นยังมีอำนาจอยู่ การแถไปเรื่อยๆ เจ้าตัวได้ประโยชน์มากกว่า
ถึงจะบอกไปว่าการไม่ยอมรับผิดจะให้ประโยชน์แก่เจ้าตัวมากกว่า แต่สุดท้ายแล้วไม่มีใครหนีความจริงพ้น เช่นเดียวกับไม่มีอำนาจใดอยู่ค้ำฟ้า
เมื่อวานนี้ อดีตรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งถูกฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลังจากใช้คำสั่งโยกย้ายข้าราชการคนที่เขาไม่ถูกชะตาไปอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่า เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย Setya Novanto ที่ถูกจับเมื่อปลายปีที่แล้วในคดีรับสินบนเมื่อปี 2009
ทำไมจะต้องยอมรับผิดในวันที่หมดอำนาจล่ะ ถ้าเราสามารถขอโทษและปรับปรุงตั้งแต่วันนี้ได้?

อาทิตย์ก่อนมีตัวอย่างการขอโทษต่อสาธารณชนที่น่าสนใจ เมื่ิอMark Zuckerberg ซีอีโอของเฟซบุ๊ก จะถูกนำตัวมาไต่สวนโดยสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อน เรื่องปล่อยให้ข้อมูลของผู้ใช้ 50ล้านคนหลุดไปถึงบริษัทที่ปรึกษาด้านการเมือง “เคมบริดจ์ อนาลิติกา”
ตลอดการไต่สวนทั้งสองวัน Mark Zuckerberg ได้กล่าวยอมรับผิด อย่างจริงจัง
“เป็นที่ชัดเจนตอนนี้ว่าเราไม่ได้ทำอะไรมากพอในการป้องกันไม่ให้เครื่องมือเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด”
“นั่นเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ มันเป็นความผิดพลาดของผม และผมขอโทษ”
นอกจากนี้เขายังโพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเองว่า “เราจะหาทางปรับปรุง” อีกด้วย
การกล้าออกมายอมรับผิดตรงๆ นอกจากจะแสดงถึงวุฒิภาวะของเราแล้ว ยังบ่งบอกว่าเราคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าหน้าตาตัวเอง
ไม่ว่าใครก็ต้องถูกสอนตั้งแต่เด็กแล้วว่าทำผิดให้ยอมรับผิด แต่ทำไมยิ่งโตขึ้น เรากลับปล่อยให้ “ตัวตน” ของเราใหญ่ขึ้น จนลืมเรื่องพื้นฐานนี้ไปล่ะ?
ที่มา