ตัวอักษรเป็นสิ่งขาดไม่ได้เลยในงานออกแบบ สไตล์ของฟอนต์ที่ตรงกับอารมณ์ของสิ่งที่เราอยากสื่อ ยิ่งช่วยทำให้งานดีไซน์ของเราปังเข้าไปอีก โดยเฉพาะฟอนต์ภาษาอังกฤษที่ช่วยให้งานเราสื่อสารไปยังวงกว้างได้มากขึ้น แต่ฟอนต์ภาษาอังกฤษ ก็มีหลายแบบให้เลือกเสียเหลือเกิน แต่ทั้งหมดสามารถแบ่งออกมาได้เป็น 5 สไตล์ดังนี้
1. Geometric Sans

เป็นฟอนต์แนว sans-serif หรือฟอนต์ไม่มีขา ตัวอักษรโค้งมนกลมสวย จุดเด่นของฟอนต์สไตล์นี้คือความสมมาตรทางเรขาคณิต น้ำหนักเส้นเท่ากันหมด ดูแล้วสบายตา เหมาะกับงานออกแบบสไตล์มินิมอล
ฟอนต์นี้สื่อความทันสมัย ชัดเจนเรียบง่าย และความเป็นสากล อย่างไรก็ตามฟอนต์ตระกูล Geometric Sans ถ้าใช้ผิดจังหวะ มันก็อาจจะดูจืดชืดและน่าเบื่อได้เช่นกัน
ตัวอย่างฟอนต์ตระกูลนี้ก็อย่างเช่น Helvetica, Univers, Futura, Avant Garde, Akzidenz Grotesk, Franklin Gothic และ Gotham เป็นต้น
ฟอนต์แนว Geometric Sans พบได้ในโลโก้ต่างๆ เช่น Calvin Klein ที่ใช้ฟอนต์ Futura ส่วน Adidas ใช้ ITC Avant Garde Gothic


2. Humanist Sans

ฟอนต์นี้พัฒนาจากการเขียนด้วยลายมือ มีความเรียบหรู สบายตา แบบเดียวกับกลุ่ม Geometric Sans ที่ต่างกันคือมันไม่ได้ดูสมมาตรเป๊ะๆ แบบกลุ่มแรก (อย่างเช่นตัว t) เส้นมีความหนักเบาไม่เท่ากัน
ฟอนต์นี้สื่อความทันสมัย และความชัดเจน เช่น แต่เพิ่มอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เข้าไปด้วย ดูติดดินและเข้าถึงง่ายกว่า อย่างไรก็ตามฟอนต์ตระกูลนี้ถ้าใช้ผิดจังหวะ อาจทำให้คนที่พบเห็นรู้สึกว่ามันเฟค และไม่จริงใจ (ดังนั้นเวลาใช้ฟอนต์นี้กับงานองค์กรให้ระวังไว้ด้วย)
ตัวอย่างของฟอนต์ประเภทนี้ก็เช่น Gill Sans, Frutiger, Myriad, Optima, Verdana
ฟอนต์แนว Humanist Sans พบได้ในโลโก้ต่างๆ เช่นรถยนต์ Rolls-Royce ที่ใช้ฟอนต์ Myriad Semi Bold หรือ PayPal ที่ใช้ Verdana


3. Old Style

Old Style เป็นฟอนต์ตระกูลแรกที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา จุดเด่นของมันคือฟอนต์ที่มีขา (serif) ที่ช่วยให้กวาดสายตาอ่านได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ความหนาของเส้นไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่ฝั่งซ้ายจะหนากว่าฝั่งขวา (ดูตัว y ประกอบ)
ฟอนต์แนวนี้สร้างความรู้สึกคลาสสิค สื่อถึงความยิ่งใหญ่ที่สืบทอดกันมา ถึงอย่างนั้นถ้าใช้ผิดจังหวะมันจะดูเชยมากๆ เลยล่ะ
ตัวอย่างของฟอนต์ประเภทนี้ก็เช่น Jenson, Bembo, Palatino และ Garamond
เราจะพบฟอนต์แบบ Old Style ในที่ต่างๆ เช่น โลโก้ของนาฬิกา Rolex ที่ใช้ฟอนต์ Garamond และค่ายหนัง DreamWorks ที่ใช้ฟอนต์ Palatino


4. Transitional and Modern


Transitional กับ Modern เป็นฟอนต์ที่พัฒนามาจาก Old Style ที่ทำให้ฟอนต์แนว serif ดูทันสมัยมากขึ้นด้วยการเพิ่มความสมมตารทางเรขาคณิต ความคมของเส้น ทำให้ฟอนต์ดั้งเดิมดูร่วมสมัยมากขึ้น
ฟอนต์ชนิดนี้สื่อถึง ความแข็งแกร่ง ความมีรสนิยม และความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง แต่ถ้าใช้ผิดจังหวะ อาจจะทำให้คนสับสนว่าตกลงต้องการสื่อความทันสมัยหรือความคลาสสิคกันแน่
ตัวอย่างของฟอนต์ประเภทนี้ก็เช่น Times New Roman และ Baskerville (Transitional) กับ Bodoni และDidot (Modern)
เราจะเห็นฟอนต์ประเภทนี้ในสินค้าแบนด์เนมอย่างเสื้อผ้า Giorgio Armani ที่ใช้ฟอนต์ Didot และธนาคาร HSBC ที่ใช้ Times New Roman


5. Slab Serif

ฟอนต์ประเภทนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Egyptian เป็นฟอนต์ที่เน้นความขัดแย้งในตัวเอง เพราะมันเป็นฟอนต์ Geometric ที่มีขาแบบ serif ถ้าเปรียบเป็นคน ฟอนต์นี้ก็คือคนมีหลายบุคลิกในตัวเองบางวันเป็นนักคิด บางวันเป็นนักสู้ บางทีก็ดูเป็นผู้มีอำนาจ บางทีก็ดูเป็นคนเรียบร้อย บางคราวก็เป็นคนเมือง บางครั้งก็ดูเป็นคนลุยๆ ในชนบท
ฟอนต์แบบนี้ถ้าใช้ถูกจังหวะก็จะทำให้งานออกแบบของเราเด่นตราตรึงใจผู้พบเห็น และสร้างความพิเศษให้กับแบรนด์หรือข้อความที่ต้องการสื่อ แต่ถ้าใช้ผิดจังหวะก็จะดูผิดที่ผิดทางมากๆ
ตัวอย่างของฟอนต์ประเภทนี้ก็เช่น Clarendon, Rockwell, Courier, Lubalin Graph และ Archer
เราสามารถเห็นฟอนต์แบบ Slab Serif ได้ในโลโก้ของคอมพิวเตอร์ IBM ที่ใช้ Lubalin Graph และ Sony ที่ใช้ฟอนต์ Clarendon


นอกจากเลือกฟอนต์ให้เข้ากับสิ่งที่ต้องการสื่อแล้ว อย่าลืมดูเรื่องการเว้นวรรค ขนาด และการจัดวางด้วยนะ ถ้าทำทุกอย่างนี้ครบรับรองงานออกมาปังแน่ๆ
ที่มา