สิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำ เมื่อมีคนเข้ามาคุยกับเรื่องการเมืองกับเราแบบจริงจัง คือการให้ข้อมูลรอบด้าน ที่รวมถึง ด้านดีของกลุ่มที่เราไม่เชียร์ และ ด้านแย่ของกลุ่มที่เราเชียร์ เช่น:
1. ถ้าจะเชียร์ประยุทธ์ควรเชียร์เพราะอะไร และไม่ควรเชียร์เพราะอะไร เช่นเดียวกับการบอกว่า ถ้าจะเชียร์พลังประชารัฐควรเชียร์เพราะอะไร และไม่ควรเชียร์เพราะอะไร
2. นโยบายของประชาธิปัตย์อันไหนที่เคยทำออกมาแล้วเวิร์ค และอธิบายเหตุผลว่าทำไมหลายๆ คนถึงด่าว่าประชาธิปัตย์คือพรรคแมลงสาบ พร้อมกับเล่าเรื่องราวการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารประกอบ พร้อมกับชี้แจ้งต้นเหตุว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์ถึงได้คะแนนเสียงต่ำเกินคาดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งๆที่นโยบายหลายตัวน่าสนใจ
3. นโยบายดีๆ ของไทยรักไทยที่ทักษิณทำในสมัยเป็นนายกฯ / ปัญหาความไม่โปร่งใส / กระบวนการสร้างผีทักษิณที่ทำให้เขากลายเป็นคนที่น่ากลัวเกินจริง / วิธีที่สร้างสรรค์กว่าการก่อม็อบและยืมอำนาจทหารมาต่อสู้กับทักษิณ / การชุมนุมของเสื้อแดง ต่างจากการชุมนุมของเสื้อเหลืองและกปปส.อย่างไร พร้อมเล่าเรื่องการปราบผู้ชุมนุมปี 53 / ทักษิณไม่ได้ล้มเจ้า และ เค้ายกฟ้องเรื่องเผาเมืองไปตั้งนานแล้ว
4. เมื่อคนถามเราเรื่องอนาคตใหม่ เราก็เล่าให้ฟังทั้งเรื่องนโยบายและวิธีิคิดต่างๆ ให้เห็นว่าการสร้างนโยบายของอนาคตใหม่เน้นที่การปรับโครงสร้างสังคมระยะยาว ไม่ใช่การแก้ปัญหารายประเด็น, ประวัติ+ผลงานของสมาชิกพรรค, สส.เขตและสส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่เราชอบเป็นพิเศษ (โดยเฉพาะคุณเท่าพิภพกับอ.กุลธิดา)
เราเล่าเรื่องพวกนี้ไปพร้อมกับการเล่าเรื่อง ปัญหาไพรมารี่โหวต, ดราม่าเรื่องการเตะบอลกับ New Dem+การเชียร์เผด็จการเป็นสิทธิ, เรื่องราวและเหตุผลที่คนรุ่นใหม่บางคนเคยอินกับพรรคจนอาสามาทำงานให้และตอนนี้ถอยออกมาแล้ว, การไล่กรรมการ NGN ออกยกชุด, เหตุผลที่นักวิชาการฝ่ายซ้ายและเสื้อแดงบางกลุ่มไม่ชอบอนาคตใหม่ (พร้อมพูดเสริมไปว่า ถ้าฟังข้อมูล 2 ด้าน แล้วไม่อยากสนับสนุนอนาคตใหม่ ลองพิจารณาพรรคสามัญชนก็ดีนะเออ)

พอเราทำแบบนี้ คนที่มาคุยเรื่องการเมืองกับเราก็จะบอกว่าเราเป็นกลาง ซึ่งเราก็งงว่าเราไม่เป็นกลางสักหน่อย เราไม่ปฏิเสธว่าตัวเองมีพรรคการเมืองและนักการเมืองที่เราเชียร์เป็นพิเศษ เราแค่คิดว่าทัศนคติแบบยกตนข่มท่านว่า “พวกที่ฉันเชียร์เจ๋งที่สุดในปฐพี” มันไม่ช่วยส่งเสริมบรรยากาศการแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองที่เป็นมิตรเอาเสียเลย
เรามองว่าสิ่งที่อันตรายที่สุดทางการเมืองคือการอยู่แต่ใน “ห้องเสียงสะท้อน” ของคนที่คิดเหมือนกัน และทำเป็นมองข้ามเรื่องที่ไม่ดีของฝั่งตัวเอง ไปพร้อมๆกับหาทางเอาจุดเสีย (ซึ่งบางอันก็เป็นจุดเล็กๆ) ของฝั่งที่ตัวเองไม่ชอบมาขยี้เพื่อความสะใจ