วาเลนไทน์ที่ผ่านมา หลายคนคงได้ “ซึ้ง” ไปกับความรักของหนุ่มแว่นผู้แสนดีกับสาวออฟฟิศหน้าเกาหลีที่มาพร้อม “โรคกลัวความรัก“ ในภาพยนตร์สั้น “Philophobia หญิงสาวผู้กลัวฝน” ของ Krungsri Simple
ดูจบแล้ว เราพบว่า “วิธีเล่า” น่าสนใจจนอยากมาเขียนถึง เริ่มจากพล็อต ถ้าตัดประเด็นเรื่อง Philophobia ของนางเอกออก จะพบว่าท้องเรื่องมันสุดแสนเรียบง่าย “ผู้ชายสุดไนซ์ ทำดีปิดทองหลังพระให้ฝ่ายหญิงแบบลับๆ” ที่นอกจากจะเป็นเรื่องแต่งซึ่งเล่ากันมายับยู่ยี่หมดแล้ว ก็น่าจะตรงกับชิวิตจริงของใครหลายคนที่กำลังอ่านโพสต์นี้อยู่ด้วย (เรารู้น่า 😊)
แต่นั่นล่ะ ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา มันอยู่ “มุมมอง” ในการเล่า ที่เล่าจากฝ่ายหญิง ลองคิดดู ผู้ชายแอบรักผู้หญิงที่ไม่มีวันรักตอบน่ะมีเป็นร้อยเป็นพัน แต่ผู้หญิงที่ “กลัวความรัก” มันจะมีกี่คนเชียว
การเปลี่ยนมุมมองนอกจากจะช่วยให้เรื่องน่าสนใจ เพราะมันให้ข้อมูลใหม่ให้คนอ่านหรือคนดูรับรู้ สร้างความตื่นเต้น และทำให้เราเข้าใจตัวละครตัวนั้นมากขึ้นด้วย
แถมการเปิดด้วยคำว่า “โรคกลัวความรัก” ในวินาทีที่ 30 ยังกระตุ้นต่อม “เอ๊ะ” ให้คนดูได้ทันทีอีกด้วย คนที่กำลังอินเลิฟสงสัยว่า “คนแบบนี้มีด้วยเหรอ?” ส่วนคนโสดและคนช้ำรักได้ยินแล้วก็อยากรู้ว่า “หรือเราจะเป็นโรคนั้นด้วย”
การที่คนแบบนั้น “หาได้ยาก” ทำให้ผู้ชมรู้สึกอยากติดตามชีวิตของนางเอกและเอาใจช่วยเธอในตอนท้าย
นอกจากหนั้งสั้นเรื่องนี้แล้ว ภาพยนตร์ฉายโรงที่เล่าประเด็นนี้ก็ “หายาก” ด้วย ที่พอจะคุ้นตากันน่าจะเป็นเรื่อง Runaway Bride ที่นำแสดงโดย Julia Roberts กับ Richard Gere เรื่องของคอลัมนิสต์หนุ่มใหญ่ผู้ต้องเขียนสกู๊ปเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ทิ้งเจ้าบ่าวให้รอเก้ออยู่หน้าแท่นทำพิธีวิวาห์มาสามราย เขาตกหลุมรักผู้หญิงคนนั้น เลยต้องมาลุ้นกันว่านักเขียนจะกลายเป็นพ่อสายบัวแต่งตัวเก้อรายที่สี่หรือเปล่า (ซึ่งลุ้นไปก็เท่านั้น คิดว่าตอนจบคนดูเดาไม่ออกว่างั้น? มีใครเข้ามาชมหนัง Romantic Comedy ตลาดๆ เพื่อนลุ้นจริงๆว่าคู่พระ-นางจะลงเอยกันหรือไม่ด้วยเหรอ?)
แถมอีกนิด ยังมีหนังยาวอินดี้ๆ ที่ตั้งชื่อแบบฮาร์ดเซลไปเลยว่า Philophobia ที่ออกมาด้วยกัน 2 เรื่องแบบตั้งชื่อใจตรงกันในปี 2011 และ 2015 เรื่องแรกเป็นสารคดีส่วนเรื่องที่สองเป็น “หนังสยองขวัญ” ที่มีพล็อตว่าผู้ชายที่รักร้าวมาหลายครั้งพบว่ารักแท้นั่นน่ากลัวเพียงใด
ไม่ใช่แค่สื่อที่มีเวลาเล่าหลายนาทีอย่างภาพยนตร์เท่านั้นที่เล่าเรื่อง “โรคกลัวความรัก” สื่อที่มีข้อจำกัดด้านเวลาและภาษาอย่าง “เพลง” ก็ทำได้เช่นกัน
คนอายุ 40 อัพ หรือแม้แต่หลายๆ คนในยุคนี้ คงต้องเคยได้ยินเพลง “เจ้าสาวที่กลัวฝน” ของเต๋อ-เรวัติ พุทธินันท์ที่เปรียบการกลัวความรักเหมือนการกลัวเปียกฝน ทั้งๆ ที่ฝนก็ทำให้เธอเย็นฉ่ำ ใครที่เกิดไม่ทันและอยากรู้ว่าเพลงมันดังแค่ไหน ตอบได้ว่ามันฮิตระเบิดระเบ้อ จนคำว่า “กลัวฝน” กลายเป็นสำนวนที่ใช้ทั่วในความหมายว่า “กลัวความรัก” ไปได้ ไม่แปลกที่โฆษณาของกรุงศรีใช้คำนั้นตั้งชื่อเรื่อง
อย่างไรก็ดี เพลงดังกล่าวก็เป็นเหมือนกับหนังเรื่อง Runaway Bride ที่เล่าผ่านมุมมองผู้ชายผู้พยายามเกลี้ยกล่อมให้หญิงสาวเปิดใจ
และนั่นก็น่าสงสัยต่อไปว่า มีเพลงใดบ้างไหมที่เล่าอาการ Philophobia จากมุมผู้หญิงจริงๆ ซึ่งการเล่าที่ว่าต้องเป็นเรื่องของอาการกลัวความรักในระดับจิตได้สำนึก ไม่ใช่ช้ำรักจากอดีตเลยไม่พร้อมจะเปิดใจ
เราหามาให้แล้ว ไม่ต้องห่วง นั่นก็คือเพลง “God Help The Girl” ของวงในชื่อเดียวกัน โปรเจกต์พิเศษของ Stuart Murdoch นักร้องนำและหัวหน้าวง Belle and Sebastian
God Help The Girl เป็นสามสาวร้องเพลงแนวอินดี้ป๊อป นอกจากดนตรีจะอินดี้เนื้อเพลงก็อินดี้ด้วย เพราะนอกจากเล่าเรื่องผู้หญิงที่กลัวความรัก (ที่หาได้ยากแล้ว) ยังบอกว่า “กลัวความรักแล้วไง ชั้นก็เป็นชั้นแบบนี้ ไม่ง้อผู้ชายหรอก” ต่างจากงานอื่นๆ ที่สุดท้ายจะมีต้องมีคนมาทำลายกำแพงในใจหญิงสาวจนได้ลงเอยแบบ Happy Ending ตามสูตรสำเร็จ
มุมมองที่ไม่เหมือนใคร อยู่ในเนื้อเพลงที่เจ็บจี๊ด ในตอนแรกพูดถึงผู้หญิงที่ไม่ต้องการความสัมพันธ์โรแมนติก
There is no way I’m looking for a boyfriend. There is no way I’m looking for a scene. I need to save some dough. I’m a working girl you know. I’ll fend attention off; I keep to myself.
(ไม่มีทางหรอกที่ฉันจะต้องหาแฟน ไม่มีทางหรอกที่ฉันจะสร้างเรื่องให้ตัวเอง ฉันต้องเก็บเงิน ฉันเป็นผู้หญิงบ้างาน ฉันไม่สนใจใคร ชอบอยู่กับตัวเอง)
แต่พอมีคนมาจีบ ก็ใจอ่อนไปวูบนึงและก็เทเค้าทิ้งอยู่ดี
I think of him when I’m doing the dishes. I think of him while looking in the sink. This ain’t no play on words. My love for him’s absurd. If he gave me a sign, I’d think about it for a week, I’d build it up and then I’d turn him down.
(ฉันคิดถึงเขาตอนที่ล้างจาน ฉันคิดถึงเขาตอนที่มองที่ซิงค์น้ำ ฉันไม่ได้พูดเล่นๆ แต่ความรักที่ฉันต่อเขามันช่างไร้เหตุผล ถ้าเขาดูมีใจ ฉันจะคิดถึงมันสักอาทิตย์ ฉันหวั่นไหวไปบ้าง แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธเขาไป)

จุดแข็งอีกอย่างของเพลงนี้คือการสร้างรายละเอียด นอกจากจะเห็นมิติด้านอารมณ์ ยังเล่าแอคชั่นของตัวเอกอย่างชัดเจนให้คนฟังเห็นภาพตามได้ทันที ไม่ต่างอะไรกับการที่คนดู รู้จักตัวละคร “ฝน” ผ่านภาพเคลื่อนไหวและเสียงใน “Philophobia หญิงสาวผู้กลัวฝน”
มันจะพีคมากถ้าฟัง “God Help The Girl” สลับกับ “เจ้าสาวที่กลัวฝน” เราจะเห็นการโต้ตอบระหว่างผู้หญิงที่ดูเหมือนมีใจแต่สุดท้ายก็ขออยู่ตัวคนเดียว กับผู้ชายที่เข้าใจเธอดี และเกลี้ยกล่อมให้หญิงสาวลองสู้กับความกลัวในตัวเอง เหมือนดูหนังเหตุการณ์เดียวกันที่ตัดสลับระหว่างมุมมองอย่าง Babel หรือซีรีส์ I Hate You, I Love You ยังไงยังงั้น
มันก็น่าคิดนะว่ามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ Philophobia ที่เป็นเหตุการณ์เดียวแต่ตัดสลับมุมมองระหว่าง คนที่ไม่กล้าเปิดใจ กับ คนที่ขอตามจีบทุกชาติไปหรือยังนะ? ว่าแต่จะถามทำไม… เขียนเองเลยดิ
Tip of The Day– ลองเปลี่ยนมุมมองในการเล่าเรื่อง เช่น เปลี่ยนโฟกัสไปที่ตัวละครหนึ่งแทนอีกตัวหนึ่ง รวมถึงสร้างเหตุการณ์เดียวแต่ตัดสลับสองมุมมองระหว่างตัวละคร 2 กลุ่มขึ้นไป จะช่วยให้งานของคุณสดใหม่ น่าติดตาม