ถ้าเข้าไปดูกระทู้ใน Pantip.com ก็คงจะเห็นกระทู้ทำนองที่ว่าเด็กรุ่นใหม่อีโก้สูง สอนงานยาก ไม่นอบน้อม ทำงานที่ไหนก็ไม่ทน แป๊บๆ ก็ลาออก แต่ถึงอย่างนั้น จากผลการสำรวจในปี 2017 จาก Deloitte บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจและตรวจสอบบัญชีชั้นนำของโลก พบว่าคนรุ่นใหม่ที่ว่ามีแนวโน้มที่จะจงรักภักดีกับองค์กรมากขึ้น และเป็น active citizen ที่สนใจเรื่องสังคมการเมืองรอบตัวมากกว่าเดิม
เช่นเดียวกับการสำรวจของนิตยสาร Forbes ที่มองว่ามิลเลนเนียลเป็นกลุ่มที่ขยัน ตั้งใจและทะเยอทยานในเรื่องหน้าที่การงาน 55% ของมิลเลนเนียลต้องการให้หัวหน้าของตนเองเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีบทบาทเป็นผู้นำมากขึ้น 58% เชื่อว่าทักษะการสื่อสารคือหัวใจสำคัญของการเป็นผู้นำ และ 51% คิดว่าพวกเขามีความเป็นผู้นำอยู่ในตัวอยู่แล้ว

แต่ไม่ว่าเราจะมองมิลเลนเนียลอย่างไร ภายใน 10 ปีข้างหน้ามิลเลนเนียลจะเป็นกลุ่มคนที่มีมากที่สุดในตลาดแรงงาน คิดเป็น 44% หรือเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว และจำนวนไม่น้อยจะต้องมารับตำแหน่งผู้บริหาร หรือเติบโตขึ้นไปเป็นหัวหน้างานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ และกล้าหันหลังให้องค์กรที่ไม่ตอบโจทย์ และพร้อมลงทุนลงแรงกับกิจการของตนเอง
แทนที่จะมองลักษณะนิสัยเหล่านั้นในแง่ร้ายว่ามิลเลนเนียลเอาแต่ใจ อีโก้สูง ทำไมองค์กรต่างๆ ถึงจะไม่ดึงศักยภาพความเป็นผู้นำของมิลเลนเนียลออกมา ให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งตัวคนทำงานเอง และบริษัทล่ะ

แล้วบริษัทต่างๆ ควรร่วมงานกับมิลเลนเนียลอย่างไร เพื่อให้วิน-วินทั้งสองฝ่าย?
1. ให้อำนาจและความเชื่อใจ
มิลเลนเนียลมีความเป็นผู้นำในตัวอยู่แล้ว พวกเขาอยากได้รับการมอบหมายงานให้ทำในโปรเจคต์ใหญ่ๆ ที่ท้าทายความสามารถ รวมถึงได้รับเครดิตจากความทุ่มเทความพยายามของพวกเขา
2. เปลี่ยนบทบาทของหัวหน้างาน
เปลี่ยนท่าทีของหัวหน้าจาก “คนสั่งการ” (Commander) เป็น “พี่เลี้ยง” (Mentor) เอาประสบการณ์มาแนะนำแบ่งปัน แต่โดยไม่ครอบงำว่าต้องทำตามที่หัวหน้าคิดเท่านั้น
3. บริหารงานด้วยเป้าหมาย
กำหนดเป้าหมายที่ต้องการให้ชัดเจน และเปิดโอกาสให้มิลเลนเนียลคิดหาหนทางที่ไปสู่เป้าหมายด้วยตัวเอง แล้วก็ประเมินการทำงานจากผลงานเป็นหลัก

4. ความยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิต
นี่คือสิ่งที่แตกต่างที่สุดของมิลเลนเนียลกับคนยุคก่อนๆ อย่าง Gen X และโดยเฉพาะ Baby Boomer จากความล่มสลายทางเศรษฐกิจ เช่น ต้มยำกุ้ง crisis ที่รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาในรอบ 10 ปีหลัง คนรุ่นใหม่เล็งเห็นว่า การทุ่มเทชีวิตไปให้กับองค์กร เพราะถือว่าบริษัทเหล่านั้นมีบุญคุณที่สร้างความมั่นคงให้ชีวิตเป็นเรื่องที่ล้าสมัยและไม่อาจรับประกันความมั่นคงในชีวิตได้อีกต่อไป
พวกเขาต้องการที่ทำงานที่มอบ Work-Life Balance ได้ รวมไปถึงการลดกฎระเบียบในที่ทำงาน เช่น การบังคับเวลาเข้า-ออกงาน หรือการแต่งเครื่องแบบ และที่สำคัญที่สุดงานที่เขาทำต้องตอบโจทย์เป้าหมายในชีวิตได้
นอกจากนี้ กลุ่มมิลเลนเนียลจำนวนไม่น้อยต้องการทำธุรกิจตัวเองเป็นอาชีพที่สอง ด้วยเหตุนี้หลายๆ คนจึงมองหางานที่มีตารางเวลาไม่ตายตัว และมี Work-Life Balance ที่ดี เพื่อให้พวกเขามีเวลาทำอย่างอื่นได้

5. การลดลำดับ-สูงต่ำในที่ทำงาน
กลุ่มมิลเลนเนียลชอบการสื่อสารที่ตรงและฉับไว และการมีลำดับสูงต่ำทำการสื่อสารต้องผ่านกันหลายชั้น ทำให้งานล่าช้า นอกจากนี้การลดลำดับสูงต่ำจะช่วยให้การพูดคุยระดมความคิดหรือ brainstorming ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งกลุ่มมิลเลนนียลชอบแชร์และแลกปลี่ยนความคิดกันอยู่แล้ว นอกจากนี้การจัดกิจกรรมอบรมความรู้ภายในทีมอยู่เรื่อยๆ จะช่วยให้สร้างสิ่งแวดล้อมที่เสริมศักยภาพการทำงานของกลุ่มมิลเลนเนียลได้ดีที่สุด

นอกจากความเป็นผู้นำแล้ว ในบทความ Generation Me ของนิตยสาร Time ก็จะบอกว่ากลุ่มมิลเลนเนียลเป็นกลุ่มที่ฉลาด วิเคราะห์ปัญหาต่างๆได้ดี มีทักษะในการประยุกต์ และสามารถทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันได้อีกด้วย