สิ่งหนึ่งที่เราอึดอัดมากๆ เรื่องสังคมไทย คือค่านิยมหมั่นไส้ความสำเร็จของคนอื่น
คนจำนวนไม่น้อยในบ้านเรา (รวมถึงเราด้วย) ถูกสอนด้วยสุภาษิตตั้งแต่เด็กว่า “ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเด่นกว่าตัว”
ตอนเรียนหลายคนคงเจอเรื่องราวที่ว่า ถ้าในห้องมีใครบอกว่าทำได้ เราเข้าใจที่อาจารย์สอน เราอ่านมา เรามั่นใจ ก็มีจะมีคนมองด้วยสายตาจับผิด และแช่งให้มันทำคะแนนได้น้อยๆ พอมันทำได้คะแนนน้อยทุกคนก็จะแฮปปี้ที่เห็นคนเซลฟ์เป็นได้แค่ราคาคุย แต่พอได้คะแนนมากจริงๆ ก็จะหมั่นไส้หาว่าอวดเก่งไปไหน
ด้วยเหตุนี้เอง เวลาสอบ เพื่อนๆห้องคิงต้องมาแสร้งทำเป็นตื่นตระหนกว่าอ่านมาไม่ทันบ้าง พอสอบเสร็จก็บอกคนอื่นว่าข้อสอบยากทำไม่ได้ จากนั้นพอได้คะแนนดี คนอื่นมาชื่นชม ก็ต้องปฏิเสธไปว่าฟลุคมั่วถูก เพราะกลัวโดนหมั่นไส้
สุดท้ายคนเก่ง แทนที่จะเอาความรูู้มาแชร์กับเพื่อนๆ ก็ต้องเก็บไว้คนเดียว

ตอนทำงาน ในแผนกมีเพื่อนคนหนึ่ง เก็บเงินซื้อรถหลักล้าน ต่อหน้าทุกคนชื่นชมว่ารถสวย แต่ลับหลังมาแขวะกันว่าไอ้นั่นแม่งอวดรวย
เวลามีคนทำงานหนักแล้วได้เงินมาเยอะ คนๆนั้นก็ต้องพูดอ้อมๆไปว่า “ได้เงินไม่เยอะหรอก”
ถ้าเป็นเรา เราก็คงไม่บอกคนอื่นว่าได้เงินเยอะหรือน้อย ก็แค่บอกไปตรงๆว่าได้เท่าไหร่มันยากหนักเหรอ
แต่ที่แน่ๆ ถ้าเราบอกว่าได้เงินเท่าไหร่ คนที่หาได้มากกว่าแต่ไม่พูดก็จะมองคนที่ประกาศออกไปว่า “ไอ้โง่เอ๊ย ได้น้อยแต่ทำเป็นคุย”
เราเคยคิดแบบนี้เหมือนกัน จนกระทั่งเราดูวิดิโอ tutorial ของนักทำหนังอินดี้อเมริกันคนหนึ่ง นอกจากจะสอนเทคนิคการถ่ายทำแล้ว ยังสอนด้วยว่างานแบบไหนได้เงินดี และที่สำคัญที่สุดเค้าบอกโต้งๆ กันในวิดิโอเลยว่าเค้าได้ค่าตัวเท่าไหร่ และอธิบายว่าเค้าได้เรตนั้น เพราะเหตุใด โดยเอามาเปรียบเทียบกับค่าตัวในปีก่อนหน้า พร้อมอธิบายเหตุผลที่ชาร์จลูกค้าแพงขึ้น เพราะเขาซื้ออุปกรณ์ถ่ายทำมาเพิ่ม และเขาพัฒนาฝีมือได้มากขึ้นเท่าใด
วิดิโอตัวนั้นเปลี่ยนโลกทัศน์ของเราต่อเรื่องการกลัวโดนหมั่นไส้ โดยเฉพาะเรื่องเงินๆทองๆ ไปตลอดกาล

เราเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมความรู้ถึงแบ่งปันกันไม่ได้ ตอนแรกที่บรู๊ซ ลีสอนวิชากังฟูให้กับชาวต่างชาติ ก็โดนศิษย์เส้าหลินหมั่นไส้ หาว่าทรยศวิชาความรู้ แต่กาลเวลาก็พิสูจน์แล้วความคิดแบบไหนมันถูกต้อง
และทำไมความสำเร็จต้องพูดกันอ้อมแอ้มๆ กลัวคนอิจฉาเหรอ แล้วทำไมคนไทยถึงอ่านสื่อเมืองนอกที่พูดถึงค่าตัวและค่าเหนื่อยของนักฟุตบอลได้อย่างชัดเจนว่าใครทำรายได้ต่อสัปดาห์เท่าไหร่ และต่อปีเท่าไหร่ ใครคือนักกีฬารวยสุดแห่งปี
แต่พอฟุตบอลสยามพยายามไปหาข้อมูล ก็มีแต่คนพูดอ้อมๆว่า ก็พอมีพอกิน เล่นบอลอาชีพ เลี้ยงครอบครัวได้ พูดอ้อมๆ คลุมเครือๆ ไป
การกลัวโดนหมั่นไส้ พออยู่ไปนานๆ คนเราจะหาเหตุผลที่เข้าข้างตัวเอง จนสุดท้ายกลายเป็นความหวงวิชา และไม่อยากเห็นคนอื่นได้ดีไปในท้ายที่สุด
นี่เหรอสังคมอุดมปัญญาที่เราวาดฝันถึง
เปลี่ยนได้แล้ววิธีคิดล้าสมัยไม่เข้าถ้า “ทำดี ก็ต้องเด่น เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ว่าใคร ควรได้ความรู้เหมือนกัน” ต่างหากล่ะที่ถูกที่ถูกควร