เราคงเคยเห็นและอาจเคยเสียเงินให้กับริละคุมะ, เฮลโหล คิตตี้ หรือ สติกเกอร์ไลน์ หมีบราวน์ หรือไก่แซลลี่กันมาบ้างแล้ว และเหตุผลสำคัญเพราะมัน “น่ารัก”
ถึง “ความสวย” จะขึ้นอยู่ที่ตาคนมอง แต่เชื่อไหมว่า “ความน่ารัก” เป็นสิ่งสากลที่คนทั่วโลกรู้สึกร่วมกัน ความรู้สึก “น่ารัก” นั้นฝังอยู่ใน DNA ของมนุษย์ทุกคน
อย่างเวลาเราเห็นเด็กทารก เคยรู้สึกอยากเข้าไปเล่น เข้าไปอุ้ม เข้าไปดูแลให้ความรักไหม นี่ล่ะคือความรู้สึก “น่ารัก” ที่สัญชาติญาณบอกให้เราเข้าไปดูแลมนุษย์คนอื่นที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพื่อให้เรารักษาเผ่าพันธุ์ไว้ต่อไป
ถ้าเราดึง “ความเป็นเด็กทารก” มาใช้กับงานแคแรกเตอร์ ดีไซน์ได้ เราก็จะออกแบบอะไรคิวท์ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งมันมีหลักดังนี้

1. ทำให้หัวโตกว่าปกติและมีรูปร่างกลม — อย่างหัวของเด็กทารกปกติแล้วจะมีขนาดถึง 1 ใน 4 ของตัว (ในขณะที่ผู้ใหญ่ทั่วไปจะมีขนาดหัวต่อตัวคือ 1 ใน 8) ซึ่งเราสามารถปรับให้หัวมีขนาดถึง 1 ใน 2 ของตัวเลยก็ได้
ไม่ใช่แค่คน ออกแบบสิ่งของก็ใช้หลักการเดียวกัน เราสามารถวาดรูปค้อนให้ดูน่ารักกว่าปกติได้ด้วยการทำให้หัวค้อนกลมขึ้น โตขึ้น และลดความยาวของด้ามจับลง

2. เปิดพื้นที่หน้าผากให้กว้างขึ้น วาดตำแหน่งของตาและปากให้ต่ำกว่าเดิม — นอกจากนี้ควรวาดตาให้กลมโต ส่วนจมูกกับปากให้เล็กกว่าปกตินิดนึงจะคิวท์มาก

3. ถ้าตัวละครมีแขนขา ให้หดแขนขาให้สั้นลง เช่นเดียวกับการลดความสูงของตัวละคร
4. ความน่ารักมากับรูปทรงที่กลมป้อม — ความโค้งกลมทำให้สิ่งออกแบบดูเป็นมิตร น่าเข้าหา รวมถึงการมีเส้นขอบที่หนาชัดจะช่วยเพิ่มความคิวท์ได้

5. ออกแบบตัวละครให้เรียบง่าย อย่าใส่รายละเอียดให้มากไป — ความคิวท์ควรเป็นกลางพอที่คนไม่ว่าชาติไหนก็รู้สึกน่ารักตามไปด้วยได้
6. ทำให้ตัวละครมีขนาดเล็กเข้าไว้ ยิ่งเล็กยิ่งน่ารัก
7. สีสันสดใส เช่น เหลือง ฟ้า ชมพู ขาว โทนพาสเทลได้ยิ่งดี — หลีกเลี่ยงโทนสีที่สีตัดกันจัดๆ คอนทราสต์เยอะๆ จะทำให้สิ่งที่ออกแบบดูเป็นผู้ใหญ่เกินไป ไม่น่ารักเท่าที่ควร

ลองเอา 7 ข้อนี้ไปปรับใช้กับการออกแบบดูนะ มาเพิ่มความคิวท์ให้กับโลกใบนี้กันจ้า
ที่มา
https://design.tutsplus.com/articles/the-elements-of-cute-character-design–vector-3533
https://www.youtube.com/watch?v=Z0zConOPZ8Y