ในวันเกิดปีที่ 13 เด็กหญิง Anne Frank ได้รับของขวัญเป็นสมุดโน้ต Otto พ่อของเธอ เห็นลูกสาวเป็นคนที่เงียบและไม่ค่อยคุยกับใคร การเขียนอาจเป็นการสื่อสารความรู้สึกที่เธอสบายใจกว่า
วันที่ 12 มิถุนายน 1942 ข้อความแรกก็ถูกบันทึก เป็นความในใจของ Anne ที่มีต่อ Kitty เพื่อนในจินตนาการ “ฉันหวังว่าฉันจะเล่าทุกอย่างให้เธอฟังได้ แบบที่ฉันไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน และหวังว่าเธอจะทำให้ฉันสบายใจและอย่างข้างฉัน”
มีสิ่งหนึ่งที่ครอบครัว Frank ไม่สบายใจเอาเสียเลยคือการเป็นชาวยิว และนี่คือเหตุผลที่พวกครอบครัวของ Anne ต้องย้ายมาอาศัยที่เนเธอร์แลนด์

Anne เกิดที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี พ่อของเธอเป็นร้อยโทให้กับกองทัพเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่หลังจากเยอรมนีแพ้สงคราม ประเทศได้เข้าสู่ยุคสาธารณรัฐไวมาร์ ที่มาพร้อมกับการเรืองอำนาจของพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน หรือที่รู้จักกันดีว่า “นาซี”
สังคมนิยมในอุดมคติของฮิตเลอร์คือผูกขาดอำนาจในชนกลุ่มน้อย แต่สามารถจูงใจชนกลุ่มใหญ่ได้ “ใครที่เข้าใจความหมายของเพลงชาติ Deutschland, Deutschland über Alles ว่าไม่มีอะไรสูงส่งยิ่งกว่าเยอรมัน อารยัน และปิตุภูมิ เขาคนนั้นเป็นนักสังคมนิยม” พรรคนาซีรวมชาติให้เป็นปึกแผ่นด้วยการสร้าง “ศัตรูร่วมกัน” และนั่นคือชาวยิว
“เพราะพวกเราเป็นชาวยิว คุณพ่อของฉันจึงย้ายมาที่ฮอลแลนด์ในปี 1933 เขาทำงานที่บริษัท Dutch Opekta ที่ผลิตสินค้าเกี่ยวกับการผลิตแยม”
นี่คือคำบอกเล่าในบันทึกของ Anne

Otto จำได้ดีว่าในปี 1932 ทหารนาซีเดินขบวนที่แฟรงค์เฟิร์ต ทหารร้องเพลง “เมื่อเลือดของชาวยิวทะลักออกมาจากคมมีด” และเมื่อฮิตเลอร์เข้ามาเป็นผู้นำประเทศในปิ 1933 เขาตัดสินใจพาครอบครัวหนีไปที่เนเธอร์แลนด์ แต่นั่นสามารถช่วยให้เขาพ้นจากเงื้อมมือของพรรคนาซี
แม้ว่ารัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไม่ได้ออกไปมีส่วนร่วมใดๆ กับสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันได้ยกทัพนาซีเข้ามายึดประเทศในปี 1940 และเริ่มออกกฎหมายแบ่งแยกเชื้อชาติ ชาวยิวต้องติดสัญลักษณ์ดาว 6 แฉกไว้ที่เสื้อ ถูกตั้งเคอร์ฟิวจำกัดเวลาในการใช้ชีวิตนอกบ้าน และ Anne ต้องย้ายไปเรียนที่โรงเรียนสำหรับชาวยิวเท่านั้น และที่สำคัญชาวยิวถูกสั่งห้ามเป็นเจ้าของกิจการ พ่อของ Anne จึงต้องเซ็นใบมอบอำนาจให้กับเพื่อนชาวดัตช์ โชคยังดีที่เขายังสามารถบริหารโรงงานของเขาแบบลับๆ ได้

สถานการณ์เลวร้ายขึ้นเมื่อ ในเดือนกรกฎาคม Margot พี่สาวของ Anne ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่ค่ายกักกัน (ซึ่งคนที่ได้ไปเอาชวิทซ์มีทางเลือกอยู่สองทางคือใช้แรงงานทาสจนตาย กับโดนรมแก๊ส) ทำให้ครอบครัว Frank ตัดสินใจซ่อนตัว Otto เอาห้องอพาร์ทเมนต์ว่างด้านหลังโรงงานของเขาเป็นที่หลบภัย เขาได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ชาวดัตช์ ที่จัดอาหาร และติดต่อกับโลกภายนอกให้
เด็กหญิงเรียกสถานที่นี้ว่า Secret Annex และใช้เวลา 2 ปีกับอีก 35 วันในที่แห่งนี้ โดยไม่ได้ออกไปเห็นโลกภายนอก จากบันทึก Anne บอกว่าเธออยากเป็นนักข่าวหรือไม่ก็นักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และนอกจากเขียนไดอารี่เล่าเหตุการณ์แต่ละวัน เธอยังรีไรท์บันทึกเก่าๆ เพราะเธอได้ยินจากคลื่นวิทยุ BBC ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของเนเธอร์แลนด์ต้องการตีพิมพ์บันทึกชีวิตของคนที่ได้เผชิญสงครามโลกครั้งที่ 2
“ฉันสามารถสลัดทุกอย่างทิ้งไปเมื่อฉันลงมือเขียน ความโศกเศร้าพลันหาย และความกล้าหาญกลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง”
นี่คือข้อความของเด็กหญิงที่มีไดอารี่เป็นเพื่อน และรอความหวังที่จะออกไปเป็นนักเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ

ในปี 1944 พ่อของเธอได้ฟังข่าววิทยุ ทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรได้บุกมาถึงหาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส เธอมีความหวังว่าพวกนาซีและประเทศฝ่ายอักษะจะแพ้สงคราม แต่น่าเสียดายที่ชัยชนะนั้นมาช้าเกินไป
วันที่ 4 สิงหาคม ปีเดียวกัน ตำรวจลับเกสตาโปของเยอรมนี ได้บุกเข้า Secret Annex และจับครอบครัว Frank ไปยังค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ทหารนาซีได้จับแยกชายหญิง และนั่นเป็นโอกาสสุดท้ายที่ Otto ได้พบภรรยาและลูกสาวทั้งสอง
แม่ของเธอป่วยและเสียชีวิตที่เอาชวิทซ์ ส่วน Anne และ Margot หลังจากใช้แรงงานที่ค่ายนั้นอยู่ 1 ปี ทั้งสองถูกส่งตัวไปยังค่ายเบอร์เจน-เบลเซ่น และเสียชีวิตที่นั่นด้วยไข้ทรพิษ

หลังสมครามจบ Otto ได้กลับมาที่เนเธอร์แลนด์ เขาพบว่าเพื่อนของเขาได้เก็บไดอารี่ของลูกสาวไว้ให้ หลังจากที่รวบรวมความกล้าและเปิดอ่าน เขาตัดสินใจติดต่อสำนักพิมพ์เพื่อเผยแพร่บันทึกนี้
แม้เป็นเพียงเด็กวัย 13 และไม่ได้ออกไปเห็นสงครามเหมือนกับคนอื่นๆ แต่ไดอารี่นี้ได้สะท้อนภาพความโหดร้าย และความสิ้นหวัง ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เป็นเรื่องราวของชาวยิวที่ต้องถูกจำกัดทุกอย่างทั้งการเปิดไฟ การเข้าห้องน้ำ แม้แต่การเคลื่อนไหวร่างกายหรือการส่งเสียง เธอตั้งคำถามต่อการจำกัดเสรีภาพ และทำไมมนุษย์ถึงต้องทำสงครามประหัดประหารกัน
“เราทุกคนต่างมีเป้าหมายในชีวิตคือมีความสุข
ชีวิตของพวกเราแตกต่างแต่ก็เหมือนกัน”
Anne บันทึกความคิดนี้ไว้
หนังสือ Diary of Anne Frank ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1947 เป็นภาษาดัตช์ และแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 1952 เรื่องราวของ Anne ก็กลายป็นปรากฎการณ์เมื่อเด็กจากทั่วโลก ส่งจดหมายมาหา Otto ทั้งให้กำลังใจ และบ้างก็เล่าว่าเพราะงานเขียนของ Anne ทำให้พวกเขาเริ่มเขียนไดอารี่ของตัวเองบ้าง
Otto ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “เด็กหลายๆ คนเขียนจดหมายมาหาผม ถามไถ่เรื่องต่างๆ บางคนก็เขียนไดอารี่ของตัวเองและตั้งชื่อให้มันว่า Anne Frank เขาเขียนหนังสือให้ Anne เหมือนที่ Anne เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ Kitty ฟัง และในช่วงวัยเยาว์นี่ล่ะ พวกเขาได้รับความมั่นใจและความหวัง จากการอ่านบันทึกต่างๆ ของ Anne”

นอกจากนี้ในปี 1963 Otto ได้ก่อตั้ง Anne Frank Fonds เป็นมูลนิธิการกุศลที่จัดกิจกรรมให้ความรู้ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ และในปี 1997 Anne Frank Educational Centre ได้ถูกก่อตั้งขึ้นที่กรุงแฟรงเฟิร์ต บ้านเกิดของเด็กหญิง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องผลกระทบของระบอบนาซี, การแบ่งแยกชาติพันธุ์ และการเหยียดผิว ในปี 1999 นิตยสาร Time ได้ยกให้ Anne Frank เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญแห่งศตวรรษอีกด้วย
หนึ่งในถ้อยคำที่ Anne เขียนไว้ในไดอารี่คือ “ไม่ว่าจะอย่างไร ฉันเชื่อเสมอว่ามนุษย์มีจิตใจที่ดีงาม” และเราเชื่อว่าพวกเราจะร่วมกันแสดงความดีงามในจิตใจ เพื่อพิสูจน์ความเชื่อ Anne Frank ได้ในที่สุด