สาวแอฟริกัน อเมริกันผู้เรียกร้องให้หยุด ‘การเหยียดผิว’ ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์

Posted by

เชื่อไหมว่า สิ่งที่น่าจะเที่ยงตรงและไร้ความรู้ที่สุดอย่างคอมพิวเตอร์ ก็มีอคติและ “เหยียดผิว” คนอื่น? อย่างเช่นในปี 2009 บริษัท HP เคยออกกล้องเว็บแคมที่ตรวจจับใบหน้า แต่ปรากฎว่าโปรแกรมมันไม่สามารถตรวจจับใบหน้าของคนที่มีเชื้อสายคองกอยด์ (ผิวดำแบบคนแอฟริกัน) ได้

หลายคนอาจมองว่าเพราะแสงมันมืดเลยอ่านใบหน้าสีเข้มได้ยากก็น่าจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าคิดแบบนั้นก็แปลว่าคนแอฟริกันที่มีอยู่ในโลก 1,200 ล้านคน หรือคนเชื้อสายคองกอยด์ในประเทศอื่นๆ (แค่ในสหรัฐก็มีถึง 308 ล้านคนแล้ว) ก็ต้องเสียเปรียบกับการใช้โปรแกรมตรวจจับใบหน้าไปเรื่อยๆ อย่างนั้นหรือ? ทำไมถึงไม่มีใครคิดที่จะแก้ไขโปรแกรมให้เข้ากันได้กับทุกสีผิวล่ะ?

นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ Joy Buolamwini สาวแอฟริกัน อเมริกัน นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology ต้องการ

ตอนที่เธอเรียนด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ระดับปริญญาตรี เธอศึกษาเรื่องหุ่นยนต์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ที่ต้องอาศัยโปรแกรมตรวจจับใบหน้าในการแยกแยะว่าหุ่นยนต์กำลังพูดกับใคร แต่เธอพบว่าในบางครั้งหุ่นยนต์ไม่สามารถตรวจจับใบหน้าเธอได้ และเลวร้ายกว่านั้น เธอต้องแก้ปัญหาด้วยการเอาหน้ากากขาว (ใช่แล้ว แบบในหนัง V For Vendetta นี่ละ) มาสวมทับหน้าตัวเอง และพบว่าหุ่นยนต์กลับตรวจจับใบหน้าเธอได้เสียอย่างนั้น

เธอเก็บคำถามนี้ไว้ในใจ จน 5 ปีต่อมา หลังจากเรียนจบ Joy ได้ไปที่ฮ่องกงและทดลองใช้โปรแกรมตรวจจับใบหน้าของหุ่นยนต์ที่นั่น และเธอก็เจอปัญหาเดิมที่มันไม่สามารถตรวจจับใบหน้าคนผิวสีเข้มได้

“ถ้าคุณกำลังใช้ระบบที่ถูกฝึกมาให้เหมาะกันกับคนที่สีผิวไม่เข้ม แต่คนที่ได้รับปัญหานี้คือคนที่มีผิวสีเข้มล่ะ แล้วมันยุติธรรมหรือที่จะใช้ระบบที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น” 

นั่นคือสิ่งที่เธอตั้งคำถาม Joy ศึกษาต่อไปว่าทำไมหุ่นยนต์ถึงอ่านสีขาวได้ดีกว่าสีดำ และเธอพบว่าปัญหาทั้งหมดมันมาจาก Source Code หรือโค้ดต้นแบบของการสร้างโปรแกรมตรวจจับใบหน้าทุกๆ อัน

เนื่องจากการเขียนโปรแกรมขึ้นมาใหม่จากศูนย์ ใช้เวลานานมากกว่าจะสำเร็จ โปรแกรมเมอร์ส่วนใหญ่จึงนำโค้ดที่คนอื่นเขียนไว้มาดัดแปลง ต่อยอดไปเรื่อยๆ และบังเอิญที่คนกลุ่มแรกที่พัฒนาโปรแกรมตรวจจับใบหน้าคือนักวิจัยเชื้อสายคอเคเชี่ยน (ผิวขาวแบบคนตะวันตก) โปรแกรมก็เลยอิงกับมาตรฐานของคนผิวขาวเป็นหลัก กลายเป็นปัญหาของคนสีผิวอื่น โดยเฉพาะคนผิวดำ ที่เพิ่งจะมีการเรียกร้องสิทธิอย่างจริงจังเมื่อ 50 ปีก่อนหน้านี้เอง ทำให้โอกาสการเข้าถึงการศึกษาต่างๆ ยังมีช่องว่างที่เหลื่อมล้ำกันอยู่

ปัญหานี้ทำให้โปรแกรมมันลำเอียงไปทางคนขาวและมีอคติกับคนสีผิวอื่นๆ เรียกว่า Algorithmic Bias

“การเรียนรู้ (ของโปรแกรม) ไม่ได้เกิดขึ้นเอง เราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้ และเราสามารถที่จะสร้างการเรียนรู้ใหม่ที่สะท้อนมิติของมนุษย์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้” 

Joy กล่าวใน TED Talk “นี่คือเวลาที่ฉันคิด ในเมื่อก็รู้ปัญหานี้มาตลอด มันถึงเวลาที่ต้องกล้าพูดมันออกมาแล้วล่ะ”

และนั่นคือที่มาของการก่อตั้งกลุ่ม Algorithmic Justice League เป็นองค์กรเชิงสังคมที่ส่งเสริมการเขียนโปรแกรมครอบคลุมถึงคนทุกสีผิว กิจกรรมกลุ่มมีทั้งการสร้างสื่อให้สังคมตระหนักว่านี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนผิวสีดำที่บังเอิญอยู่ในที่มืดโปรแกรมเลยไม่ทำงาน รณรงค์ให้ในสำนักงานเขียนโปรแกรมมีคนทุกสัญชาติอยู่ ให้ช่วยเช็คข้อผิดพลาดซึ่งกันและกัน ทำให้โปรแกรมถูกเขียนมาเพื่อมนุษยชาติทุกคนจริงๆ

ถึงแม้ Algorithmic Justice League จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น โครงการนี้ก็ชนะการประกวด The Search for Hidden Figures และได้รับทุกสนับสนุน 50,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.5 ล้านบาท) เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“ฉันขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมมือกันฉัน ในการสร้างโลกที่เทคโนโลยีทำงานเพื่อเราทุกๆ คน ไม่ใช่แค่กับคนบางกลุ่ม โลกที่ทุกๆคนอยู่ร่วมอย่างเท่าเทียมและต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม”

Joy Buolamwini กล่าวทิ้งท้าย


Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s