จิตวิทยาแห่งความ ‘เงิบ’ ทำไมคนเราถึงกล้าตัดสินกันทางออนไลน์อย่างมั่นใจ?

Posted by

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้าที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และโจมตีคนที่เป็นโรคนี้ว่า “เรียกร้องความสนใจ” “ไปตายซะ” “ฆ่าตัวตายเป็นบาป” “ชื่อเสียงเงินทองถมความว่างเปล่าทางจิตใจไม่ได้” จนหมอและผู้เชี่ยวชาญต้องออกมาให้ให้ข้อมูลกันรัวๆ

การออกตัวแรงโจมตีใครบนโลกออนไลน์ แต่สุดท้ายพอพบว่าตัวเองเข้าใจผิดเพราะมีข้อมูลไม่มากพอ ก็ลงเอยด้วยการไม่ดริฟท์จนสีข้างถลอก ก็ออกมาขอโทษกันไป (ถึงอย่างนั้นบางคนก็นิ่งเสียตำลึงทองนะเออ) และในเมื่อทุกๆ คนรู้ดีว่าสื่อโซเชียลเป็นพื้นที่สาธารณะ และสถานะทางสังคมของคนโพสต์หลายๆ ครั้งก็เป็นบุคคสาธารณะ เวลาจะพูดอะไรในพื้นที่ออนไลน์ของตัวเองก็ไม่ต่างอะไรกับการออกอากาศให้คนนับพันนับหมื่นดู

ในเมื่อทุกคนรู้ แต่ทำไมยังทำกันล่ะ?

ประเด็นนี้ Michele Nealon-Wood ผู้อำนวยการสถาบันจิตวิทยาที่ชิคาโกให้ความเห็นไว้ว่าสมัยนี้คนกล้าแสดงความรุนแรงใส่กันมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีสื่อที่ช่วยให้แต่ละคนได้แชร์ข้อมูลของตัวเอง และนอกจากนี้การนั่งพิมพ์คอมเมนต์หน้าจอ เราไม่ได้เห็นปฏิกริยาคนอื่นระหว่างพิมพ์ ทำให้เจ้าตัวไม่สามารถประเมินได้ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร

“เราถูกตัดขาดจากการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และนั่นทำให้คนเข้าใจผิดว่าเราจะพูดอะไรก็ได้”  

นอกจากเราไม่เห็นอีกฝั่งแล้ว ตามธรรมชาติของสื่อโซเชียล ผู้ใช้ทุกคนสามารถเลือกไลค์หรือฟอลโลว์ใครก็ได้ที่ตัวเองชอบ และนั่นทำให้จักรวาลโลกออนไลน์ของเขากลายเป็นโลกที่ทุกๆ คนคิดคล้ายๆ กันไปหมด และนั่นทำให้เกิด “ภาพลวงตาของคนหมู่มาก” และคิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิดใครๆ เขาก็คิดแบบเดียวกัน

นักวิจัยจาก USC Information Science Institute จากสหรัฐอเมริกาได้ทดลองคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่สรุปออกมาได้ว่า การทำให้คนเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองคิดเป็นเสียงส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องใช้คนเกิน 50% ใช้คนแค่ 20% ก็สามารถหลอกให้คนเชื่อว่าความคิดของตัวเองคือกระแสหลักของสังคมได้แล้ว

นอกจากนี้ การที่คนบางกลุ่มคิดว่าสิ่งที่ตัวเองคิดเป็นเป็นเสียงส่วนใหญ่ เพราะเขามี confirmation bias ที่ปักใจเชื่อในความคิดตัวเองเพราะมันตรงกับสิ่งที่ตัวเองเคยเชื่อมาก่อน เช่นบางคนประสบภาวะเครียดอย่างหนักแล้วผ่านพ้นมันมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักปล่อยวางและผ่อนคลายด้วยตัวเองหรือหันเข้าศาสนา แล้วบรรลุธรรม ก็อาจจะคิดว่าคนอื่นๆ ที่มีอาการซึมเศร้า ก็จะต้องทำได้เช่นเดียวกับตัวเอง

ไม่แปลกเลยใช่ไหมที่จะได้ยินคำพูดที่ว่า “เครียดเหรอ ไปกินเหล้าสิเดี๋ยวก็หาย” หรือ “เครียดเหรอ ลองไปเข้าวัด สวดมนต์ดีไหม” โดยที่คนที่พูดอาจไม่ทันได้ฟังอีกฝั่งด้วยซ้ำ

สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่งคือความมั่นใจแบบผิดๆ เพราะตัวเองรู้มาบ้าง และเข้าใจว่าที่รู้มาบ้างนั้นคือรู้จริงรู้ลึกแล้ว ปรากฎการณ์ดังกล่าวทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘Dunning–Kruger effect’ เป็นอคติที่เจ้าตัวเข้าใจว่าตัวเองเก่งเกินจริง

ถ้าคนๆ หนึ่งเคยอบรมหลักสูตร NLP (Neuro-linguistic programming) และมีความรู้ทางจิตวิทยามา และใช้ความรู้นั้นประกอบอาชีพจนมีชื่อเสียงเงินทองมากมาย ก็อาจทำให้เขาปักใจเชื่อว่าความรู้ทางจิตวิทยาที่เขามีครอบคลุมเรื่องทางจิตทุกอย่างแล้ว จนคิดว่ามันสามารถใช้เพื่อการรักษาโรคทางจิตเวชได้ ทั้งที่จริงแล้วมันคนละศาสตร์กัน

ความน่ากลัวของ ‘Dunning–Kruger effect’ มี 2 ข้อด้วยกัน 

1. เพราะเขารู้มาบ้าง เขาเลยดูเหมือนจะอธิบายทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างมั่นใจและกล้าฟันธงผิดๆ ถ้าไม่รู้เลยก็อาจไม่กล้ายกตัวเองขึ้นมาขนาดนั้น

2. เพราะเจ้าตัวรู้มาไม่มากพอ เลยไม่มีความรู้ที่จะประเมินว่าตัวเองไม่รู้ตรงไหน เขาก็เลยหลงเชื่อว่าตัวเองรู้มากต่อไปเรื่อยๆ และยิ่งเป็นหนักก็ยิ่งยอมรับความจริงยากขึ้นไปอีก

ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยา เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการได้กล่าวไว้ว่า  “บางครั้งความไม่รู้ มักก่อให้เกิดความมั่นใจกว่าความรู้”

เพราะคนที่ยิ่งรู้มาก ก็จะรู้มากพอที่รู้ว่าตัวเองยังไม่รู้อะไรบ้าง เลยไม่ด่วนตัดสินถ้ายังไม่แน่ใจจริงๆ และสื่อสารไปด้วยท่าทีที่เปิดกว้าง น้อมรับคำวิจารณ์ได้ดีกว่า

ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่เราจะแสดงความเห็นอะไรในโลกออนไลน์ ลองหยุดคิดดูไหมว่า “อีกฝ่ายหนึ่งจะรู้สึกอย่างไรกับความเห็นของเรา” การลองคุยกับเพื่อนๆ ในวงเล็กๆ โดยเฉพาะเพื่อนที่มีแนวโน้มจะเห็นต่างจากเราก่อนฟันธงตัดสินในที่สาธารณะ และลอง Google ดูข้อมูลที่เป็นวิชาการจริงๆ ก่อนโพสต์ และที่สำคัญ การสื่อสารแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ด้วยการเผื่อใจว่าสิ่งที่เราพูดอาจจะผิด ก็จะช่วยลดอาการเงิบได้

ถึงอย่างนั้น ต่อให้เราพยายามแล้ว แต่ก็ยังเงิบอยู่ดี ทางออกที่ดีที่สุด (และยากที่สุดอีกด้วย) คือยอมรับความผิดพลาดอย่างจริงใจและตั้งใจหาความรู้เพิ่มเติม อย่างเคสของพล่ากุ้ง ที่ออกไปจัดรายการลงเพจเฟซบุ๊คของตัวเองเพื่อคุยกับจิตแพทย์เรื่องโรคซึมเศร้า นับว่าเป็นการกระทำที่น่าชื่นชมมากๆ เช่นกัน

ในเมื่อประเทศไทยของเรา ก้าวเข้าสู่ 4.0 กันแล้ว เรามาทำให้สังคมดิจิทัล น่าอยู่มากขึ้น ด้วยการเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แทนการจุดชนวนดราม่ากันก็น่าจะดีไม่น้อยเลยล่ะ 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s