จำได้ไหมว่าครั้งล่าสุดเราเช่าแผ่นดีวีดีจากร้านคือเมื่อไหร่? นี่คือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Digital Disruption ที่ระบบดิจิทัลทำให้วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป มีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 โลกที่อยู่ภายใต้ Disruption จะเกิด 8 อย่างนี้ขึ้น
1.ผู้ขายสินค้าจะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ให้บริการ “เช่า” สินค้าแทน
ยกตัวอย่างเช่นจากเมื่อก่อนเราซื้อแผ่นดีวีดีภาพยนตร์หรือซีดีเพลง แต่ตอนนี้เราดูหนังฟังเพลงทางออนไลน์ โดยผู้ชมไม่ได้ซื้อหนัง แต่จ่ายค่าสมาชิกรายเดือนให้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ แทน
2. ราคาของเชื้อเพลิงฟอซซิล เช่นน้ำมั้น จะแพงกว่าพลังงานสะอาด
จะมีการตั้งราคากลางทั่วโลกในการใช้พลังงานฟอสซิล ที่มีการเผาไหม้และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา เพื่อกระตุ้นให้นานาประเทศหยุดใช้พลังงานฟอสซิล ในขณะเดียวกันพลังงานสะอาดเช่นโซลาร์เซลล์จะถูกลงมากๆ เตรียมพร้อมที่จะเป็นพลังงานกระแสหลัก

3. เกิดประเทศมหาอำนาจรายใหม่ๆ
สหรัฐอเมริกาจะไม่ใช่ชาติมหาอำนาจโลกแต่เพียงผู้เดียว รัสเซีย จีน เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น จะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจด้วยเช่นกัน
4. จำนวนโรงพยาบาลจะลดลง
ที่โรงพยาบาลมีจำนวนลดลง เพราะเกิดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น รถที่ไร้คนขับจะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุลงอย่างฮวบฮาบ เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ จะช่วยให้การปลูกถ่ายอวัยวะทำได้ง่ายขึ้นด้วย
5. คนบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง
6. ผู้อพยพชาวซีเรียในวันนี้ จะกลายเป็นเจ้าของกิจการต่างๆ ในปี 2030
7. แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบตะวันตกจะถูกสั่นคลอน
8. มนุษย์ถูกส่งไปที่ดาวอังคารได้สำเร็จ

ทั้ง 8 อย่างเป็นเพียงการทำนายเท่านั้น และก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญคาดเดาไม่ได้ โดยเฉพาะใน 4 เรื่องต่อไปนี้
1. เราจะเชื่อมต่อกันอย่างปลอดภัยได้อย่างไร
ในอนาคตคนอินเตอร์เน็ตจะเป็นเทคโนโลยี “พื้นฐาน” ที่ทุกคนเข้าถึงได้ เหมือนที่ทุกคนเข้าถึงไฟฟ้าได้ในทุกวันนี้ ที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า Internet of Things หรือ IoT ตอนนี้อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ สามารถควบคุมผ่านสัญญาณเน็ตได้แล้ว
เมื่อทุกอย่างเชื่อมโยงกันด้วยสัญญานเน็ต ภายใต้ความสะดวกสบาย มีผู้ใช้ยังต้องแบกความเสี่ยงจำนวนมหาศาล เราจะป้องกันการโจรกรรมหรือแฮคข้อมูลได้อย่างไร? นั่นเป็นโจทย์ท้าทายข้อหนึ่งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้

2. งานแบบไหนที่มนุษย์ควรทำ
หนึ่งในกระแส Digital Disruption คือปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดกว่ามนุษย์อย่างเทียบไม่ติด คาดการณ์กันว่าภายในปี 2030 ตำแหน่งงาน 800 ล้านตำแหน่งจะถูกหุ่นยนต์แทนที่ และนั่นทำให้การเรียนการสอน Digital Literacy (การอ่านออกเขียนได้ของสื่อดิจิทัล) เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในระบบการศึกษา
จากห้องเรียนที่ครูสอนอยู่หน้ากระดาน นักเรียนฟังแล้วจดตาม ต้องผนวกสื่อดิจิทัลและโซเชียลมีเดียรวมไปเป็นส่วนหนึ่งของคลาสด้วย ผู้เรียนไม่ใช่คนที่ทำความเข้าใจสื่อดิจิทัลเพียงฝ่ายเดียว ต้องเป็นคนที่สามารถสร้างคอนเทนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญยังตอบแบบเป๊ะๆ ไม่ได้ว่าในปี 2030 มนุษย์เราควรทำงานแบบไหน แต่สิ่งที่พวกเขาแนะนำมาคือทักษะการเข้าสังคม ความฉลาดทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นเลิศทางการสื่อสารเป็นสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์ยังทำไม่ได้

3. เราจะไว้ใจและเชื่อใจกันได้อย่างไร
สังคมของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นด้วยความไว้วางใจและเชื่อใจกันและกัน แต่ในโลกอินเตอร์เน็ตที่เราไม่เห็นหน้าค่าตาและอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวตนที่แสดงในโลกนั้นเป็นตัวจริงหรือไม่ ดังนั้นการเชื่อมต่อกันที่มากขึ้น ก็เปิดโอกาสให้คนหลอกลวงผู้อื่นกันมากขึ้นด้วย
เช่นเดียวกับที่งานวิจัยบอกมาว่าคนเราพร้อมที่จะทำร้ายจิตใจผู้อื่น หรือทำเรื่องไม่ดีทางออนไลน์ได้ง่ายกว่าในโลกจริง เพราะเขาไม่ได้เห็นผลของการกระทำเกิดขึ้นตรงหน้า
ยิ่งกว่านั้น จากข่าวปลอมและข้อมูลเท็จที่ปล่อยกันแพร่หลาย โลกเราก้าวไปสู่ Post-Truth ที่คนพร้อมจะเชื่อข้อมูลที่ตรงกับใจ มากกว่าข้อเท็จจริงเสียอีก
ยังไม่มีใครสามารถทำนายได้ว่าระบบใดที่ทำให้การสื่อสารของมนุษย์ในอีก 12 ปีข้างหน้าไว้วางใจกันได้จริงๆ

4. เราจะใช้นวัตกรรมแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้อย่างไร
ในยุคสมัยแห่งดิจิทัล คนทั่วโลกเชื่อมโยงถึงกันได้แค่ปลายนิ้วคลิก คนเราสามารถทำงานและติดต่อปร่ะสานงานกันได้อย่างทันทีทันใด นอกจากนี้ เทคโนโลยียังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนอีกด้วย เช่น รถที่ไร้คนขับจะช่วยนลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ แต่นั่นมาพร้อมกับปัญหาใหม่ๆ ด้วย อาทิ
ข้อมูลนี้ใครเป็นเจ้าของ? ใครมีสิทธิสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ได้บ้าง? ถ้ารถที่ไร้คนขับไปชนข้าวของคนอื่นเสียหาย ใครรับผิดชอบ? อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างข้อมูลส่วนตัวกับข้อมูลสาธารณะ? เราควรให้น้ำหนักข้อมูลส่วนตัว (เช่นการโพสต์ในโลกโซเชียล) ของคนๆ หนึ่งมากแค่ไหน เวลาเราพิจารณาจ้างงานหรือเวลาทำประกันภัย? ใครเป็นคนควบคุมค่าอัลกอริทึมต่างๆ ในโลกออนไลน์? (แค่คิดมาถึงตรงนี้ก็ปวดหัวจะแย่แล้ว)

ทั้งสี่ข้อนี้ยังเป็นปริศนาอยู่ ณ ปัจจุบัน ซึ่งเราก็คงได้รู้กันเมื่อเวลานั้นมาถึงในปี 2030 ตอนนี้รู้ได้ชัดเพียงว่าไม่มีใครหนีพ้นความปั่นป่วนในยุคดิจิทัลได้ และต้องอยู่ร่วมกับความปั่นป่วนนี้ไปอีกนานแสนนาน