สิ่งที่น่าหวานอมขมกลืนสำหรับความสัมพันธ์คือ สำหรับคนบางคน เวลาอยู่ห่างๆ ชื่นชมและให้กำลังใจกันไกลๆ อะไรมันก็เข้ากันได้ดีไปหมด จนทำให้เราอยากอยู่ใกล้กันมากขึ้น แต่พออยู่ใกล้ ความคาดหวังจากเราที่อยากให้ความรู้สึกดีๆ แบบวันแรกที่เจอคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ กลับไปปลุกด้านร้ายให้เขาหันด้านไม่ดีใส่เรา และกลายเป็นโดนอีกฝ่ายทำตัวแย่ๆใส่เราเป็นพิเศษ
แต่แน่นอนว่าความหวานอมขมกลืนนั้นมันเป็นธรรมดาโลก มีทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายเรื่องความเปลี่ยนแปลงว่าทำไมตอนเริ่มต้นอันสดใสถึงกลายเป็นฝันร้ายเมื่อเวลาผ่านไปได้ มันเรียกว่า kubler ross change curve หรือทฤษฎีความเปลี่ยนแปลงแบบกราฟระฆังคว่ำ (ดูภาพประกอบ)

เวลาเราเจอสิ่งใหม่ๆ เราอาจจะมีความประหม่าหรือกังวลอยู่บ้าง แต่ถ้าเรารู้สึกถูกใจกับมัน มันจะนำไปสู่ความสุขอันมหาศาล ไม่ต่างอะไรกับอาการเขินอายเวลาไปปิ๊งใคร และหลังจากนั้นก็นำไปสู่การสานสัมพันธ์เพื่อสร้างความสนิทสนม ที่ใครๆ ก็เรียกกันว่า “ช่วงโปรโมชั่น” หรือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง
อนิจจา ช่วงโปรโมชั่นมันสั้นมาก และหลังจากนั้นทุกอย่างจะเริ่มลงเหว และนี่คือจุดเปลี่ยน หรือ Turning Point แรก จุดเปลี่ยนที่ว่าคือจะไปต่อหรือเท ไม่แปลกเลยที่ว่าหลายๆ คนที่เริ่มคุยๆกัน ไปกินข้าวหรือดูหนังด้วยกัน จู่ๆ ก็ตัดความสัมพันธ์หรือห่างหายกันไปโดยที่ไม่ได้ทะเลาะกัน เพราะมันหมดโปรโมชั่นแล้ว
แต่แน่นอนว่า บางคนก็พยายามทุ่มเท รีบหาทางแก้ไขมัน หรือเรียกว่า เพื่อประคับประคองให้ความรักกลับมาดีเหมือนตอนเริ่มต้นเจอกัน เรียกว่า Denial Stage
ช่วง Denial Stage จะเป็นช่วงที่ทำร้ายจิตใจเอามากๆ เพราะถ้าไม่พยายามอะไรเลย ความสัมพันธ์จะพัง เพื่อ Move On ไปสู่คนใหม่ แต่ต่อให้พยายามแทบตาย มันก็จะเฟลอยู่ดี พูดง่ายๆ ถ้าอยากไปต่อต้องยอมเจ็บกับความไม่สมหวังในด่านนี้ เพื่อที่จะเข้าสู่ Stage ต่อไปที่ทำร้ายจิตใจหนักกว่าเดิม นั่นคือ Depression Stage
Depression Stage เป็นจุดต่ำที่สุดและกินเวลานานที่สุด เป็นช่วงที่อะไรๆก็แย่ไปหมด เสียน้ำตามากที่สุด Denial Stage เจ็บเท่าไหร่ Depression Stage จะเจ็บยิ่งกว่านั้นอีก (เข้าใจว่าเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่เลิกคบกัน) เมื่อเข้าสู่ภาวะนี้ ความทุกข์จะบีบให้เราต้องตัดสินใจบางอย่าง เป็น Turning Point ที่สอง และนั่นคือถ้าไม่เลิกคบไปเลย ก็จะเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ยังอยู่และทุกอย่างค่อยๆ ดีขึ้น ส่วนคนที่เลิกรากันไปก็จะเป็นช่วงที่ทำใจได้ และกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข
ถ้าดูตามหลักความน่าจะเป็นแล้ว คนที่สามารถรักษาความสัมพันธ์ไปได้จนผ่าน Depression Stage นั้นมีเพียง 12.5% เท่านั้น ซึ่งในบางทฤษฎีจะบอกว่าจะมีกราฟระฆังคว่ำ 2 ครั้ง คือหลังจากผ่าน Depression Stage ครั้งแรกได้ ชีวิตจะพุ่งเข้าสู่ความพีค เพื่อที่จะเฟลดิ่งสู่ Depression Stage รอบสองที่ต่ำลงไปอีก และยาวนานกว่าเดิมอีกครั้ง เพื่อที่จะมีความสุขที่แท้จริง และนั่นยิ่งทำให้ความน่าจะเป็นของคนที่สามารถผ่าน Depression Stage ได้ทั้งสองรอบจะเหลือแค่ 1% กว่าๆ เท่านั้น
สุดท้ายนี้โลกก็สอนให้เรารู้ว่า ถ้าไม่ยอมผิดหวัง ก็ไม่มีวันสมหวัง และการยอมผิดหวัง ที่อาจแลกมาด้วยการผิดหวังหนักกว่าเก่า คือหนทางริบหรี่หนทางเดียวที่จะนำไปสู่ความสมหวังได้
ปล. กราฟระฆังคว่ำยังใช้อธิบายปรากฎการณ์อื่นๆได้อีก เช่น Dunning Kruger Effect ที่พูดถึงคนมีความรู้แบบงูๆปลาๆ จะมีความมั่นใจในความรู้ของตัวเองเทียบเท่ากับผู้เชี่ยวชาญตัวจริง ในขณะที่คนที่มีความรู้ค่อนข้างดีจะมีความมั่นใจในตัวเองต่ำที่สุด หรือใช้อธิบายเรื่องการสร้างพฤติกรรมใหม่ว่าทำไมตอนเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างแรกๆ (เช่นลดน้ำหนัก) ถึงมีไฟ และพอทำไปสักพักหลายๆ คนก็ถอดใจที่กลางทาง แต่จะมีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่รักษาวินัยเอาไว้ได้ จนทำสำเร็จ เพราะคนเหล่านั้นเอาชนะใจตัวเองได้ในช่วงกราฟดิ่ง