งานเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ที่สนามวัลลีย์ พาเหรด รังเหย้าของแบรดฟอร์ด ซีตี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อนกหวีดยาวของผู้ตัดสินเป่าจบเกม แฟนบอลหลายพันคนวิ่งกรูเข้ามาในสนามเพื่อแสดงความยินดีกับทีมรักที่รอดตกชั้นได้สำเร็จ หลังจากชนะลิเวอร์พูลในนัดสุดท้ายของฤดูกาล 1999/2000 ได้ 1 ประตูต่อ 0 หนึ่งในดาวเตะที่โชว์ฟอร์มร้อนแรงของแบรดฟอร์ดในวันนั้นคือ “เจมี่ ลอว์เรนซ์” ผู้เล่นหมายเลข 7 ของทีม ผู้ที่โดดเด่นกว่าใครด้วยผมสีม่วง และการวิ่งไล่บอลชนิดลืมตาย
แต่นั่นไม่ใช่การวิ่งแบบลืมตายครั้งแรกของเขา

วิ่งแบบลืมตาย
การวิ่งแบบลืมตายของเจมี่เริ่มต้นเมื่อเขาอายุ 17 คู่แข่งของเขาในครั้งนั้นไม่ใช่นักฟุตบอลฝั่งตรงข้าม แต่เป็น “ตำรวจ”
เด็กหนุ่มเจมี่ ออกวิ่งอย่างสุดกำลังที่มีเพื่อเอาชีวิตรอด หลังจากที่เขางัดประตูและหน้าต่างของบ้านในกรุงลอนดอน เพื่อกวาดของมีค่าเอาไปประทังชีวิต เจมี่ไม่แคร์ว่าเงินนั้นจะมาอย่างสุจริตหรือไม่ ขอให้ได้เงินมาเลี้ยงตัวของเขากับน้องสาวก็พอ แต่การวิ่งในครั้งนั้น เขากลายเป็นผู้แพ้ เจมี่ถูกตำรวจจับและตัดสินจำคุก 3 ปี
ชีวิตของเจมี่ ลอว์เรนซ์ลำบากตั้งแต่เกิดเลยก็ว่าได้ เขาเกิดและเติบโตมาในแหล่งเสื่อมโทรมของกรุงลอนดอน พ่อแม่ของเขาเป็นชาวจาเมก้าที่อพยพมาหางานทำที่อังกฤษ ความยากจนเป็นแรงผลักดันให้เจมี่ฝึกฝนฟุตบอล เขาเริ่มฉายแววกับทีมโรงเรียน และนั่นทำให้ความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพเข้าใกล้ความจริงเข้ามา
เมื่ออายุ 17 ช่วงเวลาที่นักฟุตบอลควรเริ่มเข้าอคาเดมี่เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นนักเตะอาชีพ ชีวิตของเจมี่ก็พลิกผันถึงขีดสุด เมื่อพ่อแม่ตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่จาเมก้า ทิ้งเขากับน้องสาวให้เผชิญชีวิตอยู่ในอังกฤษกันสองคน สถานการณ์ในตอนนี้บีบให้ ถ้าเจมี่เป็นนักฟุตบอลอาชีพไม่ได้ เขาและน้องจะอดตาย
ก้าวที่พลาด
ถ้าเป็นชีวิตของดาวเตะระดับโลกทั่วๆ ไป ความลำบากยากจนในวันนั้นก็คงเป็นแรงผลักดันให้เขาเป็นนักฟุตบอลอาชีพเพื่อครอบครัวในเวลาต่อมา แต่นั่นไม่เกิดขึ้นกับเด็กหนุ่มเชื้อสายจาเมก้า หลังจาก “ไม่ผ่าน” การคัดตัวเข้าอคาเดมี่ของทีมลูกหนังในลอนดอน ไม่ว่าจะเป็นคริสตัล พาเลซ หรือมิลวอลล์ เขาก็ไม่เหลือทางเลือกอื่นในชีวิต นอกจากเข้าสู่แวดวงอาชญากรรม
หลังจากถูกจับติดคุกครั้งแรก เวลาผ่านไปหลายปี เขาได้รับการพักการลงโทษ เจมี่กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง ในฐานะผู้ถูกคุมประพฤติ เจมี่ในวัย 20 ปี กลายเป็นไอ้ขี้คุก ตกงาน ไม่มีเงิน ไม่มีแม้ความฝันใดๆ เขาใช้เวลาสามเดือนหางานทำ แต่ก็พบว่าประวัติอาชญากรที่มี ทำให้ไม่มีที่ไหนรับเขาเข้าทำงานเลย
เสียงจากนรกเข้ามาชักชวนเจมี่ เมื่อเพื่อนของเขาที่เป็นสมาชิกแกงค์อาชญากรยื่นปืนมาให้ และหว่านล้อมให้เจมี่ออกไปปล้นอีกครั้ง เจมี่ตัดสินใจทำอย่างไม่ลังเล นั่นทำให้เขาก็โดนจับเป็นครั้งที่สอง แถมยังโดนเพื่อนอาชญกรด้วยกันหักหลัง ให้การซัดทอดเจมี่ให้รับผิดไปคนเดียว สุดท้ายศาลตัดสินจำคุกเขาอีกครั้งเป็นเวลา 4 ปี

เด็กหนุ่มจาเมก้าถูกส่งไปขังที่เรือนจำแคมป์ ฮิลล์ ที่เอาไว้คุมขังนักโทษคดีอุจฉกรรจ์โดยเฉพาะที่เกาะไอล์ออฟไวต์ สถานที่ที่เพื่อนร่วมตารางคือนักโทษขาใหญ่จากคดีปล้น ฆ่า และยาเสพติด ไม่ใช่แค่ฟุตบอลแต่ชีวิตทั้งชีวิตของเขาดูเหมือนจะจบลงตั้งแต่อายุ 21 ปี ภาพของคุณแม่ของที่บินมาหาจากจาเมก้า เพื่อมาเกาะลูกกรงและร้องไห้ต่อหน้าเขายังคงเป็นภาพติดตาถึงทุกวันนี้
“ผมเลือกที่จะทำผิดเอง ผมทำตัวเอง ไม่มีใครบังคับผม คุณต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำเมื่อคุณทำผิด คุณโทษใครไม่ได้หรอก” เจมี่กล่าว
ชีวิตใหม่หลังลูกกรง
หลังจากใช้ชีวิตในคุกได้ไม่นาน โอกาสสำคัญก็มาถึง เมื่อผู้คุมในคุกได้จัดการแข่งขันฟุตบอลภายในเรือนจำขึ้น เจมี่เลยได้กลับมาเตะลูกหนังอีกครั้ง ฟอร์มของเจมี่ร้อนแรงจนทำให้ทีมของเขาได้แชมป์ แชมป์นั้นเป็นเหมือนโชคสองชั้น เมื่อผู้คุมได้แนะนำเขาให้กับทีมฟุตบอลท้องถิ่นชื่อ คาวส์ สปอร์ต แม้จะไม่ใช่ฟุตบอลอาชีพ แต่การได้ลงแข่ง ทำให้เจมี่ได้ออกมาสู่โลกภายนอก แม้จะยังไม่พ้นโทษก็ตาม ทุกๆ สิบโมงเช้าของวันเสาร์ จะมีรถตู้ของทีมมารับที่หน้าเรือนจำเพื่อพาเขาไปแข่ง และส่งเขากลับเมื่อแข่งเสร็จ วนไปอย่างนี้ทุกครั้ง จนเขาพ้นโทษ
“เมื่อผมเห็นเขาเล่น นี่มันปรากฏการณ์ชัดๆ เขาเก่งเกินกว่าจะมาเล่นฟุตบอลระดับนี้ การที่เขาได้ออกมาเล่นฟุตบอลกับที่นี่ และก็ต้องกลับไปนอนในคุก ทำให้เขาตระหนักดีว่าเขาสูญเสียอะไรไป” เดล ทอมป์สัน โค้ชของคาวส์ สปอร์ต รำลึกถึงความหลัง
“ผมรู้สึกโชคดีที่มีคนในเรือนจำเชื่อในตัวผม พวกเขายอมทำทุกอย่างให้ผมได้ออกไปพิสูจน์ความสามารถข้างนอก… ถ้าผมทำอะไรไม่ดีอีก พวกเขาก็คงตกงานแน่ๆ การที่เขาทำเพื่อผมขนาดนี้ ผมจะไม่ทำให้พวกเขาผิดหวังเป็นอันขาด” เจมี่กล่าวขอบคุณ
จากคุก สู่พรีเมียร์ลีก
หลังจากพ้นโทษ เจมี่ได้ยินมาว่าทีมซันเดอร์แลนด์กำลังมองหาผู้เล่นหน้าใหม่ เขาตัดสินใจพาตัวหนีห่างจากเพื่อนแกงค์โจรที่ลอนดอน และนั่งรถขึ้นตอนเหนือของอังกฤษเพื่อไปทดสอบฝีเท้าทันที และคราวนี้ฟ้าดินเป็นใจ ทำให้เจมี ลอว์เรนซ์ ได้เซ็นสัญญาอาชีพ
“ผมต้องหยิกตัวเองเลยว่าฝันไปหรือเปล่า ผมเพิ่งติดคุกแคมป์ฮิลล์ ที่มันเป็นคุกที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต… แต่ตอนนี้ทุกคนกำลังดูผมเล่นฟุตบอล เมื่อกี๊ผมยังอยู่ในคุกเลย เผลอแป๊บเดียวผมได้ออกทีวีแล้ว”
เมื่อฟ้าหลังฝนมาถึง เส้นทางลูกหนังของแข้งจาเมก้าก็เติบโตก้าวหน้า เขาได้ย้ายไปเล่นกับเลสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์ลีกคัพกับทีม และประสบความสำเร็จสูงสุดกับแบรดฟอร์ด ซิตี้ ที่ทำให้เขาได้ติดทีมชาติจาเมก้า กลายเป็นดาวเตะระดับอินเตอร์ แม้ไม่เคยผ่านอคาเดมีลูกหนังใดมาก่อนก็ตาม
กลับไปเข้าคุกอีกครั้ง
หลังจากอำลาชีวิตลูกหนัง เจมี่ ลอว์เรนซ์ พบช่วงเวลาที่ว่างเปล่า เขาไม่รู้จะทำอะไร เลยหวนคิดถึงเพื่อนเก่าๆ และตัดสินใจกลับไปเป็นโจรอีกครั้ง แต่โชคดีที่ครั้งนี้เพื่อนของเขาห้ามเขาได้ทัน
“ผมซึมเศร้าอย่างมาก หลังเลิกเล่นฟุตบอล ผมรู้เรื่องนั้นดี เพราะผมออกไปดื่มเพื่อลืมทุกข์ทุกวัน ผมมีรายจ่ายมากมาย แต่ตอนนี้ผมจ่ายไม่ไหวอีกแล้ว ผมเลยคิดที่จะกลับไปยังเส้นทางผิดกฎหมาย เพื่อนผมแต่ละคนก็เป็นอาชญกรทั้งนั้นที่อยากดึงผมกลับไปร่วมด้วย แต่เพื่อนผมคนหนึ่งที่ติดอยู่ในคุก เขาบอกกับผมว่า นี่เอ็งอยากมานั่งเป็นเพื่อนข้าในคุกนี่จริงๆ เหรอ จัดการชีวิตตัวเองซะ”

คำเตือนนั้นปลุกสติสัมปชัญญะในตัวเจมี่ให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง เขาอาศัยประสบการณ์การเป็นนักฟุตบอลเก่าทำหน้าที่เป็นฟิตเนสเทรนเนอร์ส่วนตัวให้กับนักฟุตบอลอาชีพคนอื่นๆ เพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว และเปิดอคาเดมี่สอนฟุตบอลของตัวเอง โดยเน้นไปที่การสอนเด็กกลุ่มที่มีปัญหาด้านความรุนแรงเป็นพิเศษ เพราะอคาเดมี่ของเขาไม่ได้สอนแค่หลักสูตรฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังมีนักจิตวิทยามาสอนเรื่องการควบคุมอารมณ์ และสอนเรื่องพิษภัยของยาเสพติดและแอลกอฮอล์อีกด้วย การเปลี่ยนบทบาทจากนักเตะมาเป็นครูทำให้เขาได้รับโอกาสที่สองในการกลับเข้าไปในคุก เพื่อเป็นวิทยากรอาสาสมัครในวิชาชีวิต
“บทบาทของผมที่นี่คือการแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีทางเลือก ผมเสนอทางเลือกให้และสนับสนุนพวกเขา ทั้งตอนที่พวกเขาอยู่ในคุกและถูกปล่อยออกมาแล้ว”
“ผมบอกพวกเขาเสมอว่าวิธีชีวิตแบบอันธพาลมันเลวร้าย คุณไว้ใจใครไม่ได้และต้องหวาดระแวงตลอดเวลา ไม่ใช่แค่กับตำรวจ แต่รวมถึงสมาชิกแกงค์อาชญากรรมคนอื่นๆด้วย”
“ถ้าคุณเชื่อว่าคุณทำได้ คุณก็จะทำมันได้ ผมคือตัวอย่างนั้น และมันไม่ใช่แค่เรื่องกีฬาเท่านั้น”

ชิวิตใหม่ของเจมี ลอว์เรนซ์ ณ ปัจจุบันคือการเป็นผู้ให้ ให้ทั้งความรู้ด้านฟุตบอลและวิชา “ชีวิต” ให้กับคนอื่นๆ และนั่นคือความสุขที่แท้จริงในสายตาของอาชญากรกลับใจอย่างเขา
“วันหนึ่งผมอยากเป็นผู้จัดการทีมที่เป็นคนผิวดำในพรีเมียร์ลีก แต่ผมไม่มีวันหยุดสอนเด็กๆ เป็นอันขาด มันคือแพสชั่นของผม การได้ช่วยเด็กๆ เหล่านี้ ผมมีความสุขยิ่งกว่าตอนได้แชมป์ลีก คัพ กับเลสเตอร์ซะอีก” อดีตดาวเตะพรีเมียร์ลีก กล่าวด้วยรอยยิ้ม
ที่มาของข้อมูล
https://www.dailymail.co.uk/sport/sportsnews/article-6827647/Jamie-Lawrence-fight-paid-owed-PFA.html